ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งแต่เดิมผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ได้แก่ 1) นายชำนาญ ยุวบูรณ์ 2) นายอรรถ วิสูตรโยธาภิบาล 3) นายศิริ สันติบุตร และ 4) นายสาย หุตะเจริญ ตามลำดับ ครั้นต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ซึ่งนายธรรมนูญ เทียนเงิน ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นคนแรก

ต่อมาในปี 2520 ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ถูกกำหนดให้มาจากการแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่ง โดยมีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แก่ 1) นายชลอ ธรรมศิริ 2) นายเชาวน์วัศ สุดลาภา 3) พลเรือเอก เทียม มกรานนท์ และ 4) นายอาษา เมฆสวรรค์ ตามลำดับ จนกระทั่งในปี 2528 ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากการเลือกตั้ง จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งพลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับจากนั้นตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มีการเลือกตั้งเรื่อยมาเมื่อตำแหน่งว่างลง โดยผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อมาตามลำดับ ได้แก่ 1) พลตรี จำลอง ศรีเมือง (ได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2533) 2) ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (ได้รับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2535) 3) นายพิจิตต รัตตกุล (ได้รับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2539) 4) นายสมัคร สุนทรเวช (ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543) 5) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน (ได้รับเลือกตั้ง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 และวันที่ 5 ตุลาคม 2551) และ 6) หม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร (ได้รับเลือกตั้ง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 และวันที่ 3 มีนาคม 2556)

ภายหลังการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2559 แต่งตั้งพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันแทนหม่อมราชวงศ์ สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งแทนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน มีทั้งมาจากการแต่งตั้งและมาจากการเลือกตั้ง โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการแต่งตั้ง จำนวน 9 คน และมาจากการเลือกตั้ง จำนวน 7 คน

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น คงจะต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลว่า จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อใด อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นวิธีการที่จะทำให้เราได้ผู้ที่เหมาะสมตรงตามความต้องการเพื่อมาทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้มีตัวแทนไปทำหน้าที่สำคัญแทนพวกเรา เช่น ปกป้องผลประโยชน์ และดูแลทุกข์สุขของประชาชนในท้องถิ่น ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีรวมทั้งพัฒนากรุงเทพมหานครให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งหากไม่มีผู้แทนก็จะไม่มีผู้นำเสนอปัญหาเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับการแก้ไข
 

ภาพปก