ระบบราชการไทย 4.0

ผู้เรียบเรียง :
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2562-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน หรือที่เรียกว่า "ไทยแลนด์ 4.0"  ซึ่งระบบราชการต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับและส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0 จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบราชการและข้าราชการเพื่อให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องกับทิศทางการบริหารประเทศ และภาครัฐหรือระบบราชการต้องทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มีการวางระบบและวิธีการทำงานใหม่ภายใต้หลักการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี เพื่อเกิดความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจ และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ภายใต้องค์ประกอบระบบราชการ 4.0 คือ เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย

เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน: ต้องมีความเปิดเผย โปร่งใสในการทำงาน โดยบุคคลภายนอกสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ หรือมีการแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน สามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ ตลอดจนเปิดกว้างให้กลไกหรือภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม และโอนถ่ายภารกิจที่ภาครัฐไม่ควรดำเนินการแทน โดยการจัดระเบียบความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างให้สอดรับกับการทำงานแนวระนาบในลักษณะของเครือข่ายมากกว่าตามสายการบังคับบัญชาในแนวดิ่งขณะเดียวกันยังต้องเชื่อมโยงการทำงานในภาครัฐด้วยกันเองให้มีเอกภาพ และสอดรับประสานกันไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง: ต้องทำงานเชิงรุกมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชน มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลรัฐ และระบบ ดิจิทัสสมัยใหม่ ในการจัดบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกโดยมีกรเชื่อมโยงกันเองของทางราชการเพื่อให้บริการได้เสร็จสิ้นในจุดเดียว ประชาชนสามารถเรียกใช้บริการของทางราชการได้ตลอดเวลา ตามความต้องการของตน และผ่านการติดต่อได้หลายช่องทาง ทั้งการติดต่อมาด้วยตนเอง เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือแอบพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ

มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย: ต้องทำงานอย่างเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง สร้างนวัตกรรมหรือความคิดริเริ่ม และประยุกต์องค์ความรู้ในแบบสหสาขาวิชาเข้ามาใช้ในการตอบโต้กับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อสร้างคุณค่า มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการตอบสนองกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถะสูง ปรับตัวเข้าสู่สภาพความเป็นสำนักงานสมัยใหม่ รวมทั้งทำให้ข้าราชการมีความผูกพันต่อการปฏิบัติราชการและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับบทบาทของตน

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้กำหนด 3 ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 สรุปได้ดังต่อไปนี้

การสานพลังระหว่างภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม: เป็นการยกระดับการทำงานจากการประสานงานกันหรือทำงานด้วยกันไปสู่การร่วมมือ กัน เป็นการบริหารกิจการบ้านเมืองในรูปแบบประชารัฐ โดยจัดระบบให้มีการวางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน มีการระดมและนำเอาทรัพยากรทุกชนิดเข้ามาแข่งขันและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

การสร้างนวัตกรรม: เป็นการคิดค้นและหาวิธีการหรือศึกษาเรื่องใหม่ เพื่อให้เกิดผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างต่อการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ใช้กระบวนการความคิดเชิงออกแบบในลักษณะที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดก่อนจะสร้างจินตนาการ พัฒนาต้นแบบ ทำการทดลอง ปฏิบัติจริงและขยายผลต่อไป

การปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล: เป็นการผสมผสานการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ อุปรณ์สมาร์ตโฟน และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินการให้บริการของราชการ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ทุกอุปกรณ์ และทุกช่องทางได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย และประหยัด

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยความสำเร็จดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญ 3 ประการที่บุคลากรภาครัฐยุคไทยแลนด์ 4.0 พึ่งมี คือ 
1) ปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดให้ตนเองมีความเป็นผู้ประกอบการสาธารณะ
2) เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน อันจะช่วยทำให้สามารถแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในที่สุด
3) เพิ่มทักษะ สมรรถะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่
 

ภาพปก