การควบคุมการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสทางการเกษตร

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการนำเข้า การส่งออก และการครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ซึ่งจากเดิมจัดอยู่ในประเภทวัตถุอันตรายชนิดที่ 3

ในการพิจารณาเกี่ยวกับการห้ามใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่ได้แบ่งประเภทของวัตถุอันตรายออกเป็น 4 ชนิด ตามความอันตรายและความจำเป็นในการควบคุม โดยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองจะต้องได้รับใบอนุญาต และวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง 

เมื่อมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 กรมวิชาการเกษตรจึงได้ออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 750/2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยกำหนดให้ผู้ซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืชในการประกอบการเกษตรกรรมของตนเอง ต้องส่งมอบคืนวัตถุอันตรายแก่ผู้ขายที่ตนซื้อมาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563  หรือไม่เกินวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ผู้มีใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อขายต้องรับมอบคืนวัตถุอันตรายดังกล่าวจากผู้ซื้อ และรวบรวมส่งมอบคืนให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบภายใน 120 วัน หรือไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 2563 สำหรับผู้มีใบอนุญาตผลิตหรือใบอนุญาตนำเข้า ต้องรับมอบคืนวัตถุอันตรายจากผู้ขาย และรวบรวมให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบภายใน 270 วัน หรือไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ ในการดำเนินการเกี่ยวกับการห้ามใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้กับทุกภาคส่วน ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ผ่านช่องทางการรับรู้ต่าง ๆ ทั้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ สารวัตรเกษตรอาสา และจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทนหรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม รวมถึงจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการนำวิธีการกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติมาใช้ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะมีต่อเกษตรกร 

การห้ามใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการในการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่คำนึงถึงความร้ายแรงของสารเคมีอันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและเกษตรกร รวมทั้งการคำนึงถึงความปลอดภัยทางด้านอาหาร การหามาตรการในการรองรับภายหลังการห้ามใช้ การจัดหาสารทดแทน การให้ความรู้แก่เกษตรกร การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้วิธีการกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ร้ายแรง จะเป็นการช่วยลดผลกระทบและก่อให้เกิดประโยชน์กับหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างครบถ้วนรอบด้านทั้งในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ภาพปก