การจัดระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรตราข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการและควบคุมการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแรกนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดข้อบังคับการประชุม ดังนั้น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 มาตรา 27 จึงกำหนดให้สภามีอำนาจตั้งระเบียบการปรึกษาหารือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมนูญนี้ โดยอนุโลมให้ใช้ข้อบังคับสภากรรมการองคมนตรีเฉพาะที่ไม่ขัดกับธรรมนูญนี้ไปพลางก่อน ต่อมาจึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 45 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ตราข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 โดยมีการกำหนดตั้งระเบียบวาระเรื่องที่จะประชุมไว้ 6 ลำดับ ประกอบด้วย (1) รับรองรายงานการประชุม (2) การด่วน (3) เสนอพระราชกำหนดเพื่ออนุมัติ (4) ร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ค้าง (5) ร่างพระราชบัญญัติใหม่ (6) กระทู้ถามและอื่น ๆ โดยปกติการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุมเว้นแต่ที่ประชุมจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นในคราวนั้น

การจัดระเบียบวาระการประชุมในแต่ละยุคสมัยต่อมาได้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามข้อบังคับการประชุมซึ่งอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีการกำหนดจำนวนเรื่องในการจัดระเบียบวาระเพิ่มขึ้น หรือลดลง เช่น ข้อบังคับการประชุมฯ พุทธศักราช 2490 กำหนดให้มีการจัดระเบียบวาระการประชุมไว้ 10 ลำดับ โดยมีการกำหนดเรื่องในการจัดระเบียบวาระเพิ่มไปจากข้อบังคับการประชุมฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 เช่น “เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม” “ญัตติร่างพระราชบัญญัติที่พฤฒสภาพิจารณาลงมติไม่เห็นชอบด้วยหรือให้แก้ไขเพิ่มเติม” “ญัตติร่างพระราชบัญญัติเพื่อพิจารณาวาระที่ 2 และ 3” เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว การจัดระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับเรื่องในวาระการประชุมด้วย เช่น เรื่อง “การด่วน” ซึ่งได้จัดไว้ในลำดับที่ 2 ตั้งแต่ข้อบังคับการประชุมฯ พุทธศักราช 2476 ถึงข้อบังคับการประชุมฯ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ต่อมาได้มีการเลื่อนเรื่อง “การด่วน” ไว้ในลำดับที่ 3 ตามข้อบังคับการประชุมฯ พุทธศักราช 2490 และกลับมาอยู่ในลำดับที่ 2 ตามข้อบังคับการประชุมฯ พุทธศักราช 2494 จนถึงข้อบังคับการประชุมฯ พุทธศักราช 2495 และภายหลังจากนั้นไม่ได้มีการกำหนดให้เรื่อง “การด่วน” ระบุไว้ชัดเจนในการจัดลำดับตามระเบียบวาระการประชุมอีกเลย

ส่วนการจัดระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร นับแต่ข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2513 จนถึงข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2535 ยังคงมีการจัดลำดับการจัดระเบียบวาระการประชุมไว้เพียง 7 ลำดับ โดยมีการเรียงลำดับ ดังนี้ (1) เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (2) รับรองรายงานการประชุม (3) กระทู้ถาม (4) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว (5) เรื่องที่ค้างพิจารณา (6) เรื่องที่เสนอใหม่ และ (7) เรื่องอื่น ๆ ทั้งนี้ ในกรณีที่ประธานสภาเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วน จะจัดไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุมก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว ตามข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2522 ข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2528 ข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีขอให้จัดเรื่องซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุม ก็ให้ประธานสภาพิจารณา และอาจจัดให้ตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอ

สำหรับการจัดระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2540 จนถึงข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ยังคงมีบทบัญญัติการจัดระเบียบวาระการประชุมไว้ 7 ลำดับเช่นเดิม แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เลื่อนลำดับเรื่อง “กระทู้ถาม” ไว้เป็นลำดับแรก เนื่องจากได้มีการกำหนดให้องค์ประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมพิจารณาได้ โดยกำหนดลำดับวาระการประชุม ดังนี้ (1) กระทู้ถาม (2) เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม (3) รับรองรายงานการประชุม (4) เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว (5) เรื่องที่ค้างพิจารณา (6) เรื่องที่เสนอใหม่ (7) เรื่องอื่น ๆ และตามข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2540 ถึงข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2562 ฉบับปัจจุบัน ได้ให้อำนาจประธานสภาเมื่อเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องด่วนจะจัดไว้ในลำดับใดของระเบียบวาระการประชุมก็ได้ แต่จะจัดไว้ก่อนเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วไม่ได้ ยกเว้นตามข้อบังคับการประชุมฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2541 ที่ไม่ได้ระบุถ้อยคำดังกล่าว นอกจากนั้นแล้ว ข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2551 ถึงข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2562 ฉบับปัจจุบัน ยังกำหนดให้ประธานสภาอาจอนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรึกษาหารือปัญหาที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นใดได้ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม

ดังนั้น การจัดระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับการประชุมฯ จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบถึงลำดับและขั้นตอนในการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งทำให้สมาชิกฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะได้ศึกษาเนื้อหาข้อมูลล่วงหน้าก่อนการอภิปราย หรือการพิจารณาเพื่อลงมติ อันจะส่งผลให้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ภาพปก