พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้มีการประกาศใช้บังคับเมื่อปี 2551 โดยพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ด้วยเหตุที่มีสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ผลิตในประเทศ หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ยังไม่มีมาตรฐานเป็นผลให้ผู้บริโภคขาดความปลอดภัยและไม่มีความเชื่อมั่นต่อสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการค้าและความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกรอบพันธกรณีระหว่างประเทศด้วยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบาย แผนงานและมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมและดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตร นอกจากนั้นแล้ว พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบและการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน ตลอดจนการควบคุมและการกำหนดเครื่องหมายรับรองมาตรฐานขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหรือกิจการการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

ต่อมาภายหลังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โดยได้ตราพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขชื่อตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมถึงการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร และคุณสมบัติคณะกรรมการวิชาการให้มีผู้แทนหน่วยงานรัฐและผู้แทนหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการวิชาการได้ อีกทั้งแก้ไขคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อให้มีหน่วยงานที่ให้บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างเพียงพอ 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการบังคับใช้กฎหมายมาระยะหนึ่ง พบว่ามีสภาพปัญหาในการดำเนินการที่ไม่สอดคล้อง ครอบคลุมและรองรับการปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการตีความกฎหมายและความไม่คล่องตัวในการปฏิบัติงาน ดังนั้น คณะรัฐมนตรี สมัยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ต่อมาจึงได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย 

  1. กำหนดให้สินค้าเกษตร หรือลักษณะของสินค้าเกษตรใดของผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรนั้น หรือขนาดหรือลักษณะของกิจการของผู้ผลิตอยู่ภายใต้มาตรฐานบังคับทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้
  2. ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐมีอำนาจออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ
  3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจประกาศกำหนดค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไป 
  4. กำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรบางขนาดหรือลักษณะของกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับการตรวจสอบและได้รับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน
  5. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรอาจประกาศยกเว้นให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ไม่มีข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน
  6. ซึ่งกันและกันได้ แต่สินค้าเกษตรนั้นต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจากประเทศดังกล่าวแล้ว 
  7. ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของต่างประเทศที่ไม่มีข้อตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานซึ่งกันและกันได้ 
  8. การกำหนดเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานทั่วไป

การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 จะส่งผลให้การกำหนดมาตรฐานบังคับมีความครอบคลุมในกรณีต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงเป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรในการขอรับใบอนุญาต และการยอมรับมาตรฐานของต่างประเทศที่ทัดเทียมกับมาตรฐานบังคับหรือการยอมรับระบบการตรวจสอบรับรองของต่างประเทศ จะทำให้เกิดความรวดเร็ว ลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศยิ่งขึ้น 

ภาพปก