17 มิถุนายน วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก

ผู้เรียบเรียง :
ณิชชา บูรณสิงห์, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“วันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก World Day to Combat Desertification and Drought” ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงภาวะวิกฤตของโลกที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความเป็นมาของวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก เนื่องจากพบว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั่วโลกถูกทำลาย และกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งเห็นได้จากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือสภาพอากาศแปรปรวน โดยส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ในภาคคมนาคมขนส่ง การอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า รวมถึงพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวันที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างสิ้นเปลือง ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยตรง ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์ได้ร่วมใจกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันที่ 17 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านปัญหาภัยแล้งและฝนแล้งของโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ประชากรโลกตระหนักและหันกลับมาใส่ใจธรรมชาติมากขึ้น

สำหรับปัญหาภัยแล้งในประเทศไทยยังคงเกิดขึ้นทุกปีและเป็นปัญหาหลัก ซึ่งมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภัยแล้งในปัจจุบัน คือ

  1. ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้น้ำในการดำรงชีวิตและใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่แหล่งเก็บกักน้ำมีจำกัด
  2. แหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติและที่สร้างขึ้นใหม่มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการเก็บกักน้ำซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดของภูมิประเทศและการพัฒนาแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะสม 
  3. การทำลายป่าต้นน้ำลำธาร เช่น การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ไม่มีต้นไม้ที่คอยดูดซับน้ำฝนลงสู่ใต้ผิวดินและยึดดินให้มีความมั่นคง จึงทำให้ขาดแคลนน้ำที่จะถูกปล่อยออกมาสู่ลำธารและลำน้ำในช่วงฤดูแล้ง
  4. การวางผังเมืองที่ไม่เหมาะสม เช่น การแบ่งพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงขาดการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม 
  5. ผลกระทบจากปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก ทำให้ความร้อนสะสมอยู่ในอากาศใกล้ผิวโลกมากขึ้น ส่งผลให้อากาศร้อนกว่าปกติ
  6. การขาดจิตสำนึกในการใช้น้ำและการอนุรักษ์น้ำ เช่น การใช้น้ำไม่ประหยัด และมีการบุกรุกทำลายแหล่งน้ำ เป็นต้น

ปัญหาภัยแล้งหรือฝนแล้งยังคงเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญทุกปี ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าใน พ.ศ. 2563 ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากกว่าทุกปี โดยคาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 3-5 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงประชากรส่วนใหญ่ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยการอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอุปโภคบริโภค ภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมได้เพราะแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกัน ถึงแม้ประเทศไทยมีการออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาลเพื่อป้องกันและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็ยังประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี ดังนั้น ปัญหาภัยแล้งจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก รวมถึงการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ 

การเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีความสมบูรณ์เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ พร้อมทั้งใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า สิ่งสำคัญคือ ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน มิใช่บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้าเป็นครั้งคราว หรือรณรงค์ให้ความสำคัญเฉพาะวันที่ 17 มิถุนายนของทุกปี เท่านั้น

ภาพปก