บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กับการส่งเสริมสนับสนุนสหกรณ์

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสหกรณ์มากว่าหนึ่งร้อยปี โดยได้เริ่มต้นศึกษาวิธีการสหกรณ์เมื่อปี 2457 ต่อมาจึงได้กำหนดส่วนราชการสหกรณ์ขึ้น เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ ต่อมาภายหลังจึงได้จัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดพิษณุโลก คือ “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” โดยสหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านหนี้สินและทำให้มีเงินทุนเป็นของตนเองเพื่อการประกอบอาชีพ โดยอาศัยหลักการความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การดำเนินงานของสหกรณ์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากนั้นจึงได้มีการขยายกิจการสหกรณ์ไปยังจังหวัดอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของสหกรณ์ในขณะนั้น ยังมีข้อจำกัดในด้านเงินทุนและด้านกฎหมาย เนื่องจากการดำเนินงานของสหกรณ์ในระยะแรกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสมาคมเพิ่มเติม พ.ศ. 2459 ภายหลังจึงได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2471 เพื่อให้เป็นกฎหมายสำหรับการกำกับดูแลและคุ้มครองสหกรณ์โดยเฉพาะ ตลอดจนรัฐได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและจัดหาแหล่งทุนอื่นเพื่อนำมาสนับสนุนสหกรณ์ ส่งผลให้สหกรณ์ในประเทศไทยขยายกิจการอย่างกว้างขวาง 

โดยที่ผ่านมารัฐได้มีการนำระบบสหกรณ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาหลายยุคสมัย รวมถึงได้มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนสหกรณ์ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาตรา 69 ได้ปรากฏถ้อยคำ “สหกรณ์” ไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดให้ “รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลิตผลทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ และพึงสนับสนุนการสหกรณ์เพื่อผลเช่นว่านั้นด้วย” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในหลายฉบับต่อมา ได้กำหนดบทบัญญัติที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสหกรณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง เช่น การมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ การส่งเสริม สนับสนุน และการคุ้มครองระบบสหกรณ์

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุนสหกรณ์ไว้ในหมวดต่าง ๆ ประกอบด้วย หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ และหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ โดยมีสาระสำคัญในแต่ละมาตรา ดังนี้

หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 42 สาระสำคัญกำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ ยกเว้นอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด

หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคสาม สาระสำคัญกำหนดให้รัฐพึงส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ และกิจการวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของประชาชนและชุมชน

หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 กำหนดให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ทั้งนี้ ได้กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ไว้ในส่วนหนึ่งของการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ โดยสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคมและวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทํางานและการประกอบอาชีพของประชาชน

โดยสรุปแล้วรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ ด้วยมีความมุ่งหมายเพื่อรับรองหลักประกันเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกัน รวมถึงกำหนดหลักการในการดูแลระบบสหกรณ์ ตลอดจนการดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจส่วนหนึ่งได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งเสริมสหกรณ์ด้วย โดยให้ดำเนินการสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างเหมาะสม เพื่อขจัดอุปสรรคและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่อไป
 

ภาพปก