การจัดการเรียนการสอนของไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19)

ผู้เรียบเรียง :
ปิยะวรรณ ปานโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดเรื่องการศึกษาให้เป็นหน้าที่ของรัฐในหมวด 5 มาตรา 54 สรุปสาระสำคัญว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ  ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องดำเนินการกำกับส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และหมวด 16 ประเด็นการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาปรากฏในหมวด 4 มาตรา 22, 23 สรุปสาระสำคัญ คือ “การจัดการศึกษาต้องยึดหลักผู้เรียนว่ามีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และต้องส่งเสริมผู้เรียนมีการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ส่วนการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา”         

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทำให้ประเทศต่าง ๆ ประกาศปิดสถานศึกษา ขณะที่ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทุกประเภท ทั้งธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกินความจำเป็น รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อระบบการจัดการเรียนการสอนของไทยในทุกระดับชั้น ทำให้สถานการศึกษาต้องถูกปิดไปด้วยเพื่อลดช่องทางการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส  ขณะที่รัฐบาลได้ออกประกาศและมีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ห้ามการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ ฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่เป็นการดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความสอดคล้องกับมาตรการป้องกันการระบาดของโรค กล่าวคือ สถานศึกษาและครูผู้สอนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมให้เด็กนักเรียน/นักศึกษาในทุกระดับ ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำรูปแบบการเรียนการสอนที่มีการจัดทำสื่อและนำเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาใช้และสามารถถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้เข้าใจและมีความรู้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นในรูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนแบบเดิมที่นั่งเรียนในชั้นเรียน แต่เป็นการเรียนรู้บนฐานเทคโนโลยี (Technology–based learning) ซึ่งจะครอบคลุมวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครูผู้สอน จำนวน 2 รูปแบบ คือ

  • รูปแบบที่ 1 คือ การเรียนการสอนนักเรียนระดับอนุบาล 1 ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 50 นาที ผ่านช่องโทรทัศน์และเว็บไซต์ และ 10 นาที สื่อสารผู้ปกครองและนักเรียนด้วยระบบโทรศัพท์ (Line) และอื่น ๆ โดยนักเรียนต้องดูตารางสอนออกอากาศล่วงหน้า 1 วัน ศึกษาแฟ้มงานเอกสารประกอบการเรียน เข้าเรียนผ่านโทรทัศน์ และสรุปองค์ความรู้จากบทเรียน เข้าระบบเช็กชื่อออนไลน์ที่ครูออกแบบไว้ นักเรียนสอบถามข้อสงสัยสื่อสารกับครูผ่านไลน์กลุ่ม ส่วนผู้ปกครอง เตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์และสถานที่เรียนที่บ้าน ศึกษาความเข้าใจตารางสอนและแผนการเรียน ติดต่อสื่อสารกับครูผ่านโทรศัพท์และกลุ่มไลน์ สำหรับครูผู้สอน จัดเตรียมเอกสารแบบฝึกหัดให้นักเรียนและผู้ปกครอง มอบใบงานให้นักเรียนและผู้ปกครอง สื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองผ่านไลน์
  • รูปแบบที่ 2 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4–6 ระบบการศึกษาทางไกลผ่านออนไลน์ Online Real–Time Learning Obec TV จำนวน 13 ช่อง ใช้เวลาเรียน 30 นาที ผ่านระบบ VTR (สื่อมีภาพและเสียง) จากครูต้นแบบ และ 20 นาที ผ่านครูประจำวิชาด้วย Video Conference (ระบบการติดต่อสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถรับ–ส่งข้อมูลภาพ) โดยนักเรียนเข้ากลุ่มไลน์ ศึกษาแฟ้มงานประกอบการเรียน เข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่ครูออกแบบไว้ และร่วมแลกเปลี่ยนกับครูผู้สอน เช็กชื่อเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ ผู้ปกครอง จะต้องศึกษาตารางเรียนล่วงหน้า สนับสนุนการเตรียมเครื่องมือสัญญาณการเรียนออนไลน์ สนับสนุนการให้นักเรียนสืบค้นงาน จัดทำแฟ้มสะสมความรู้ ติดต่อครูผ่านกลุ่มไลน์ และครูผู้สอน สำรวจความพร้อมนักเรียนรายบุคคล การศึกษาการใช้โปรแกรมออนไลน์ เตรียมและออกแบบกิจกรรมใบงานที่เหมาะสม จัดการเรียนตามวีทีอาร์ดำเนินการสอนและมอบใบงานหรืออื่น ๆ ผ่านระบบวีดิโอ ประสานผู้ปกครองนักเรียน

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนดังกล่าวข้างต้น พบว่า มีข้อจำกัดต่อเด็กนักเรียน/นักศึกษาในทุกระดับ ที่ครอบครัวมีฐานะยากจนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะสนับสนุนอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนของบุตรหลานเพิ่มเติมได้ หรืออยู่ในบางพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน จะทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้และส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เด็กนักเรียน/นักศึกษาในทุกระดับที่ไม่มีความพร้อมเสียโอกาสทางการศึกษา ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการสำรวจความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนของเด็กนักเรียน/นักศึกษา และจัดหาอุปกรณ์และวิธีการใช้อุปกรณ์สื่อสารการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละครัวเรือนอย่างเพียงพอและทั่วถึง และสามารถนำประเด็นปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นนำมาถอดเป็นบทเรียนในการเรียนรู้เพื่อวางแผนในการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) จึงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาของไทย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และยังเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสดังกล่าวจะคลี่คลายลง
 

ภาพปก