ปัญหามลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้เรียบเรียง :
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักที่มีความสำคัญกับประเทศไทยมาตั้งแต่อดีต ที่คนไทยได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตและประกอบกิจการมาอย่างยาวนาน เช่น ใช้เป็นเส้นทางการค้า ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค เพื่อการเกษตร และเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นต้น แม่น้ำเจ้าพระยามีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ไหลจากทิศเหนือลงสู่อ่าวไทย มีความยาวถึง 372 กิโลเมตร 

ปัจจุบันแม่น้ำเจ้าพระยายังคงเป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ มีบางพื้นที่ที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม การประเมินสถานการณ์คุณภาพน้ำ โดยการประเมินความสกปรกและความสามารถในการรองรับน้ำเสีย (Carrying Capacity) ของแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า แม่น้ำเจ้าพระยายังคงมีปัญหาเสื่อมโทรม ทำให้ความสามารถในการรองรับของเสียของแม่น้ำเจ้าพระยาลดลง จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562 โดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน (Water Quality Index; WQI) พบว่า เจ้าพระยาตอนบน มีค่าคะแนน WQI (68) เจ้าพระยาตอนกลาง มีค่าคะแนนWQI (65) อยู่ในเกณฑ์คุณภาพน้ำพอใช้ (61-70) และเจ้าพระยาตอนล่าง มีค่าคะแนน WQI (39) อยู่ในเกณฑ์คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม (31-60) โดยมีสาเหตุมาจากการระบายน้ำทิ้งจากชุมชนเมือง จากพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรม จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การขาดระบบการจัดการของเสียจากการทำปศุสัตว์ รวมถึงน้ำเสียจากแหล่งอุตสาหกรรม

กรมควบคุมมลพิษจึงดำเนินการยกระดับคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหามลพิษแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหามลพิษทางน้ำซึ่งจะทำให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ มาตรการที่ 1 ป้องกัน ควบคุม กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย มาตรการที่ 2 ลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ มาตรการที่ 3 ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ มาตรการที่ 4 ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ มาตรการที่ 5 สร้างการมีส่วนร่วม และจิตสำนึกให้กับทุกภาคส่วน เช่น กำกับ ตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ การลดอัตราการระบายมลพิษของนิคมอุตสาหกรรม การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำ การกำจัดวัชพืช เก็บขยะ และขุดลอกตะกอนดินและปรับสภาพแวดล้อมในแม่น้ำ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการคุณภาพน้ำ เป็นต้น ซึ่งแผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562–2570 มีการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เช่น การกำจัดวัชพืช เก็บขยะ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของน้ำและรักษาระบบนิเวศ อย่างน้อย 1 แหล่งต่อปี ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดลพบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก และองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานสนับสนุน ตลอดจนมีการดำเนินการสำรวจตรวจสอบ ตรวจวัด เก็บตัวอย่างน้ำ โดยนำมาวิเคราะห์จัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำของแม่น้ำราย 3 เดือน รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการจัดการคุณภาพน้ำประจำปี โดยมีหน่วยงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เป็นต้น

ดังนั้น หากมีการแก้ไขปัญหามลพิษและคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวข้างต้น จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีคุณภาพน้ำดีขึ้น สามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค เพื่อการเกษตร และเพื่อการอุตสาหกรรม ตลอดจนการดำรงชีวิตตามวิถีชุมชุนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีมาอย่างยาวนาน ให้อยู่เคียงคู่คนไทยต่อไปอย่างยั่งยืน
 

ภาพปก