ปีงบประมาณของไทย

ผู้เรียบเรียง :
วรพงษ์ แพรม่วง, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ปีงบประมาณ หมายถึง ระยะเวลาที่รัฐบาลใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการจัดทำงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น กำหนดให้ปีงบประมาณหมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่ง ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป และให้ใช้ปี พ.ศ. ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณนั้น

การเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณให้มาเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงวันเริ่มต้นปีงบประมาณอยู่หลายครั้ง ก่อนจะกลายมาเป็นเดือนตุลาคมดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยก่อนกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเคยกำหนดให้ปีงบประมาณเริ่มต้นในเดือนเมษายนและสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ซึ่งตรงกับปีปฏิทินของไทยในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 รัฐบาลเสนอให้แก้ไขกฎหมายเปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณมาเป็นเดือนตุลาคมและสิ้นสุดในเดือนกันยายนแทน เนื่องจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า จะกําหนดปีงบประมาณให้เหมาะสมแก่ฤดูกาลนั้น ครั้นในวันที่ 12 มกราคม รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2481 ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้แถลงเหตุผลต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“ในการที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้พิจารณาโดยด่วนนั้น ข้าพเจ้าต้องขออภัยเสียก่อนว่า ในการที่ให้ท่านสมาชิกทั้งหลายได้พิจารณาโดยด่วน ก็เพราะเหตุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ดำเนินตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ กล่าวคือว่า รัฐบาลได้แถลงไว้ว่า รัฐบาลจะได้เปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ให้ถูกต้องตามฤดูกาล และจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่จะขอให้สภาฯ วินิจฉัยแต่เพียงในวาระที่ 1 คือว่า จะควรรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น ส่วนรายการละเอียดนั้น ถ้าหากว่าสภาฯ ได้รับหลักการแล้ว ก็จะได้ขอให้ตั้งกรรมาธิการไปพิจารณา

หลักการแห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณนั้น ก็มีอยู่ว่าเพื่อเปลี่ยนปีงบประมาณ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร และการที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่ โดยจะได้เริ่มตั้งแต่ในเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง และไปหมดในวันที่ 30 กันยายนของอีกปีหนึ่งนั้น ทั้งนี้ ก็โดยคำนึงถึงดินฟ้าอากาศของประเทศสยาม”

ในครั้งนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงวันเริ่มต้นปีงบประมาณเป็นไปด้วยเหตุผลเรื่องดินฟ้าอากาศเป็นหลัก โดยยกเหตุผลสนับสนุนดังนี้ (1) งานก่อสร้างต่าง ๆ จะทำได้ในฤดูแล้ง คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงเดือนมิถุนายน ถ้าปีงบประมาณเริ่มในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ก็จะต้องคอยห่วงเรื่องงบประมาณตลอดช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม (2) เดือนเมษายนเป็นเดือนที่หยุดราชการ ดังนั้น กว่าที่จังหวัดต่าง ๆ จะได้รับงบประมาณก็เลยไปถึงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนที่เริ่มฤดูฝนแล้ว ทำให้ทำงานต่าง ๆ ได้ลำบาก และ (3) เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก ดังนั้น จึงควรรอให้เสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวก่อน เพื่อให้รัฐบาลสามารถคำนวณรายได้จากการเก็บภาษีได้ดีขึ้น

การเริ่มต้นปีงบประมาณในเดือนตุลาคมนั้นเริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2482 และเป็นครั้งแรกที่ปีปฏิทินไม่ตรงกับปีงบประมาณ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทั้งปีใหม่และปีงบประมาณของไทยต่างเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณที่เริ่มในเดือนตุลาคมนี้ถูกใช้อยู่เพียงปีเศษ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงปีงบประมาณให้ตรงกับปีปฏิทิน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2484 นั้น เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พร้อมกับเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมเช่นกัน ในการเปลี่ยนแปลงปีงบประมาณที่เริ่มต้น ในเดือนมกราคมนี้ถูกใช้อยู่กว่า 20 ปี จนมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2502 โดยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้กำหนดให้ปีงบประมาณเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไปทั้งนี้ ปีงบประมาณที่เริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ เริ่มใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2505 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2504 เป็นต้นมา

การประกาศใช้ปีงบประมาณในปัจจุบันนั้น แม้ว่าพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณฉบับใหม่ คือ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 แต่ยังคงกำหนดให้ปีงบประมาณ เริ่มต้นวันที่ 1 ตุลาคมถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีถัดไปเช่นเดิม

ภาพปก