ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ผู้เรียบเรียง :
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อประเทศ เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ตลอดจนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมากมาย ปัจจุบันการพัฒนาประเทศทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

การใช้ประโยชน์ของพื้นที่และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เช่น การอุตสาหกรรมตามแนวชายฝั่งและในทะเล การขนส่งทางทะเลและพาณิชย์นาวี การท่องเที่ยวทางทะเล รวมถึงการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนเกิดชุมชนและเมืองชายฝั่ง เป็นต้น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจากกิจกรรมดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เช่น พื้นที่ป่าชายเลนลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ อีกทั้งทะเลเป็นแหล่งสุดท้ายที่ของเสียจากแหล่งต่าง ๆ ไหลลงมารวมกัน จนเกิดปัญหามลพิษทางทะเล ทำให้น้ำทะเลเสื่อมคุณภาพ และยังสร้างความเสียหายต่อพืชและสัตว์ที่อยู่อาศัยในทะเลและบริเวณชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างสูง

ทั้งนี้ จากปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เกิดขึ้น ภาครัฐได้ดำเนินการเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดประเด็นด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน รวมทั้งดำเนินการตามแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีกฎหมายที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติประมง พ.ศ. 2490 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นต้น 

จากการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้สถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีแนวโน้มของปริมาณทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น ใน พ.ศ. 2561 พบว่ามีพื้นที่ป่าชายเลนใน 24 จังหวัด รวมทั้งหมด 2.86 ล้านไร่ มีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลใน 19 จังหวัด รวมทั้งหมด 159,828 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.91 จากปี พ.ศ. 2558 ที่มีอยู่รวม 147,184 ไร่ มีพื้นที่แนวปะการังใน 17 จังหวัด รวมทั้งหมด 149,025 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 จาก พ.ศ. 2558 ที่มีอยู่รวม 148,954 ไร่ มีสัตว์ทะเลหายากที่พบในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬ โดยในช่วง พ.ศ. 2551-2561 พบว่า การวางไข่ของเต่าทะเลและการพบเห็นเต่าทะเล พะยูน โลมาและวาฬในธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการจัดวางปะการังเทียม ช่วง พ.ศ. 2556-2560 รวมทั้งสิ้น 54,640 แท่ง พื้นที่รวม 123,000 ตารางเมตร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 ทำให้นักท่องเที่ยวงดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลให้สภาพทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูในทางที่ดีขึ้น เช่น ฝูงฉลามหูดำกว่า 70 ตัว เข้ามาหากินตามแนวปะการังน้ำตื้น ในบริเวณอ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่มากที่สุดในรอบ 20 ปี รวมถึงการพบวาฬบรูด้าและวาฬโอมูระ ในบริเวณจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา เป็นต้น 

ดังนั้น การแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง อย่างเป็นระบบและยั่งยืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบบูรณาการ เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่และสร้างความเติบโตบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืน

ภาพปก