การพัฒนาที่ยั่งยืน: มิติด้านการศึกษาที่เท่าเทียม

ผู้เรียบเรียง :
จินตนา เอี่ยมคง, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-08
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ด้วยเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) อันเกิดจากการรวมกันในการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งผู้นำประเทศสมาชิกได้มีการตกลงร่วมกันถึงเป้าหมายในการพัฒนา 8 เป้าหมาย โดยกำหนดกรอบเวลาในการบรรลุการพัฒนาไว้ 15 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2543-2558 (ค.ศ. 2000-2015) จึงเปรียบเสมือนเป็นประวัติศาสตร์และการขับเคลื่อนของโลกในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นผ่านการสื่อสารที่ทำให้สังคมโลกตื่นตัวต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน โรคติดต่อ การไม่ได้รับการศึกษาของเด็กทั่วโลก ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และก่อนการพัฒนาแห่งสหัสวรรษจะสิ้นสุดลง องค์การสหประชาชาติได้มีการเตรียมการและจัดประชุมล่วงหน้าในหลากหลายระดับ รวมถึงการรวบรวมความคิดเห็นของประชาคมโลกผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพื่อร่วมกำหนดกรอบในการเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วโลกในระยะต่อไป โดยได้มีการกำหนดกรอบเป้าหมายใหม่ที่เรียกว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งในคราวการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 (ค.ศ. 2015) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ คราวนั้น ประเทศไทยและประเทศสมาชิกรวม 193 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลก เพื่อบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใน ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หรือเรียกกันโดยย่อว่า SDGs เป็นประมวลเป้าหมายโลก 17 เป้าหมาย ประกอบด้วย 169 เป้าหมายย่อย ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันจะแบ่งแยกมิได้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการขับเคลื่อนในทุกเป้าหมายไปพร้อมกัน โดยจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ ได้แก่

1) สังคม

2) สิ่งแวดล้อม

3) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง

4) สันติภาพและความยุติธรรม

5) การมีส่วนร่วมในการพัฒนา

โดยประเทศไทยกำหนดให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าและบรรลุผลตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

SDGs เป็นเป้าหมายที่ประชาคมโลกควรรู้และให้ความสนใจ และร่วมกันพัฒนาในส่วนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่ามีมิติที่สำคัญอันจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ จึงขอนำเสนอกลุ่มมิติสังคมในเป้าหมายที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียม เพราะการพัฒนาด้านการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพเป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานอันส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ และเป้าหมายอื่น ๆ ในวงกว้าง เพราะการศึกษาให้ความรู้ในวิชาพื้นฐานและทักษะต่าง ๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติและใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ ซึ่งต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติควบคู่กันในทุกสาขาวิชาเพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียน จากความสำคัญดังกล่าวนับว่าเป็นศักยภาพของภาควิชาการเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลาง เพราะเป็นภาคส่วนที่มีข้อมูลเป็นเครื่องมือใช้ในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยสาระสำคัญต่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนทางการศึกษาที่เท่าเทียม มีดังต่อไปนี้

  1. สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมและไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล
  2. สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา
  3. ให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาวิชาเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัย ที่มีราคาที่สามารถจ่ายได้และมีคุณภาพ
  4. เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็น รวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดีและการเป็นผู้ประกอบการ
  5. ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาและสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม
  6. สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ในสัดส่วนทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้

จากสาระสำคัญข้างต้นเป็นเป้าหมายการพัฒนาเพื่อให้บรรลุต่อการศึกษาที่เท่าเทียมภายใน ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งยังต้องการความมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีคุณภาพเท่าเทียมและทั่วถึง จะทำให้มีผู้ที่อ่านออกเขียนได้จำนวนมากขึ้น เด็กผู้หญิงได้ไปโรงเรียนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวรัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษาเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน สนับสนุนทุกด้านที่เกี่ยวข้องเพื่ออนาคตของประเทศไทยจะสามารถขจัดปัญหาการไม่รู้หนังสือ การถูกหลอกลวงจากการขาดองค์ความรู้รอบด้าน การรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ซึ่งหากมีความรู้และทักษะในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องจะเป็นเกราะป้องกันตัวเองให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ทั้งนี้การจะบรรลุผลต่อการพัฒนาต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน จะต้องไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของสังคมไทยและสังคมโลก

ภาพปก