ตำรวจที่ไม่มียศ

ผู้เรียบเรียง :
อริย์ธัช แก้วเกาะสะบ้า, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-12
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

จากกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ นั้น การปฏิรูปตำรวจก็เป็นข้อเรียกร้องหนึ่งที่ประชาชนและบรรดานักวิชาการต้องการให้มีการปฏิรูปเช่นกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปประเทศเอาไว้ในหมวด 16 ซึ่งมาตรา 258 ง. ได้กำหนดเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจ ดังนั้นคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 ต่อมานายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีการปรับปรุงเกี่ยวกับตำรวจหลายประเด็น เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็นสายงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละกลุ่มสายงานสามารถเจริญเติบโตตามกลุ่มสายงานด้วยความรู้ ความชำนาญในสายงานของตน อีกทั้งมีการกำหนดให้ข้าราชการตำรวจบางกลุ่มสายงานเป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศอีกด้วยซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ในวงการตำรวจ

พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจไว้ 5 กลุ่มสายงาน ได้แก่ 

  1. 1) กลุ่มสายงานบริหาร 
  2. 2) กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน 
  3. 3) กลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ได้แก่ สายงานสืบสวนสอบสวน สายงานสืบสวน และสายงานอื่นที่ ก.ตร. กำหนด 
  4. 4) กลุ่มสายงานป้องกันปราบปราม ได้แก่ สายงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และสายงานอื่นที่ ก.ตร.กำหนด 
  5. 5) กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ อีกทั้งยังได้กำหนดให้ข้าราชการตำรวจมี 2 ประเภท คือ ข้าราชการตำรวจที่มียศ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของตำรวจครั้งสำคัญ

สำหรับข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ เช่น ตำแหน่งอาจารย์ในกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รวมทั้งข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ การพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการหรือการรักษาพยาบาล ซึ่งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับประเด็นตำรวจที่ไม่มียศนั้น ได้มีการถกเถียงกันอย่างหลากหลายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยเห็นว่าควรมีการแยกตำรวจที่ไม่มียศนั้นไปสังกัดหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น พิสูจน์หลักฐานควรไปสังกัดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมเพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน และความน่าเชื่อถือขององค์กร ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศนั้น เพราะเห็นว่าบุคคลที่เข้ารับราชการตำรวจที่มียศก็เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล เป็นขวัญกำลังใจ และความภาคภูมิใจของตำรวจและเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้บุคคลภายนอกสมัครใจมาเป็นข้าราชการตำรวจ หากมีทั้งข้าราชการตำรวจที่มียศและไม่มียศ จะทำให้การปกครองบังคับบัญชายุ่งยากมากขึ้นส่งผลต่อความสามัคคีในหน่วยงาน ขาดเอกภาพในการสั่งการ
    
ทั้งนี้ คณะทำงานร่างกฎหมายได้ชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีความจำเป็นต้องมีข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน แต่เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน และการที่คณะกรรมการได้พิจารณากำหนดข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ โดยในส่วนของตำรวจที่ไม่มียศจะมีการกำหนดประเภทตำแหน่ง วิธีการกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การบังคับบัญชา วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ตลอดจนการอื่นตามที่จำเป็นไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะไม่กระทบต่อข้าราชการตำรวจที่มียศอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศให้ ก.ตร. ดำเนินการและกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี 

ดังนั้น การกำหนดให้กลุ่มสายงานดังกล่าวเป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ อาจทำให้คนที่ต้องการเข้ามารับราชการตำรวจในอนาคตขาดแรงจูงใจในเรื่องของยศ ตำแหน่งบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าอาชีพข้าราชการตำรวจยังเป็นที่ต้องการและชื่นชอบของคนจำนวนมาก อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ก็เปิดโอกาสให้มีความก้าวหน้าในสายงานข้าราชการตำรวจอย่างภาคภูมิใจ
 

ภาพปก