หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

“ภัยพิบัติ” เป็นภัยที่เกิดแก่สาธารณะ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ นำมาซึ่งความเสียหายกับประชาชนผู้ประสบภัยทั้งสิ้น และบ่อยครั้งที่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดหมายได้ แม้จะมีการป้องกันไว้ล่วงหน้าก็ตาม การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ถือเป็นการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันยังต้องมีการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูทางด้านร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพ รวมถึงการจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประสบภัย
ในด้านต่าง ๆ

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายความถึง สาธารณภัย อันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลงหรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่น ๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน

สำหรับในภาคการเกษตร การให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งด่วน ตามความจำเป็นและเหมาะสมเมื่อเกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินขึ้นในท้องที่ เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยพิบัติ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ซึ่งหลักเกณฑ์ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ปี 2556 ที่ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากในปัจจุบันราคาต้นทุนในการทำการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น มีการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพมากขึ้น ประกอบกับมีการยกระดับมาตรฐานการเกษตรให้ดีกว่าเดิม ทำให้หลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเกษตรไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประกาศหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564

หลักเกณฑ์ที่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจะได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ และมีพื้นที่การผลิตเสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ

ด้านพืช ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เกิดความเสียหายจริง แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ข้าว ช่วยเหลือไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ด้านประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งหรือหอยทะเล จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 11,780 บาท ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน ไร่ละ 4,682 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ไร่ สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชังหรือบ่อซีเมนต์ ตารางเมตรละ 368 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร

ด้านปศุสัตว์ ช่วยเหลือในการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์ กรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย ช่วยเหลือตามจำนวนที่เสียหายจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่หลักเกณฑ์กำหนด โดยจำแนกตามชนิดของสัตว์ และอายุของสัตว์ อาทิ โค อายุน้อยกว่า 6 เดือนจนถึงอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป อัตราตัวละ 13,000-35,000 บาท กระบือ อายุน้อยกว่า 6 เดือนจนถึงอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป อัตราตัวละ 15,000-39,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ตัว สุกร แพะ แกะ อายุ 1-30 วัน ตัวละ 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป ตัวละ 3,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ดไข่ เป็ดเนื้อ อายุตั้งแต่ 1-21 วัน จนถึงอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป อัตราตัวละ 20-100 บาท ช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว นอกจากนี้ ยังให้การช่วยเหลือด้านการเกษตรอื่น ๆ ที่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยพิบัติ อาทิ การปรับเกลี่ยพื้นที่การเกษตร ค่าซ่อมแซมระบบชลประทาน ค่าจ้างเหมารถยนต์เพื่อขนย้ายสัตว์เลี้ยงที่ประสบภัย ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคลัมปี สกิน ที่เกิดกับโคและกระบือ เป็นเกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ไปยังกระทรวงการคลัง ทำให้เกษตรกรสามารถได้รับการเยียวยาย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่เกิดการระบาดของโรคลัมปี สกิน ขึ้น

ทั้งนี้ การจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือให้กับเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จะเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยฟื้นฟูให้กับผู้ประสบภัยพิบัติให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ ส่วนราชการควรที่จะดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยพิบัติให้ได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับเร่งสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วนต่อไป

ภาพปก