นวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยววิถีใหม่

ผู้เรียบเรียง :
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การท่องเที่ยววิถีใหม่หรือการท่องเที่ยวแบบ New Normal เป็นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด 19 ด้วยการปรับวิถีการดำรงชีวิตใหม่ อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคม การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยววิถีใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดนิยามเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยววิถีใหม่ หรือที่เรียกว่าพฤติกรรมแบบ “BEST” ประกอบด้วย 1) B-Booking คือ การจองเพื่อใช้บริการล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดสรรบริการให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุข ทั้งการจำกัดจำนวนคน และการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 2) E-Environment เป็นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) S-Safety เป็นการเน้นเรื่องความปลอดภัย โดย ททท. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration: SHA) ซึ่งมีการมอบตราสัญลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน SHA เพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแก่นักท่องเที่ยว และ 4) T-Technology เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณค่าและประสบการณ์การท่องเที่ยว เช่น การใช้แพลตฟอร์ม Smart Map เพื่อช่วยในเรื่องการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้สะดวกสบายและปลอดภัย เป็นต้น 

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจการท่องเที่ยวได้มีการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาและคลายความกังวลในเรื่องของมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ธุรกิจการท่องเที่ยวสามารถดำเนินต่อไปได้ และเกิดเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยววิถีใหม่ในอนาคต ดังนี้

1. เทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) โดยภาคการท่องเที่ยวและการโรงแรมได้มีการนำเทคโนโลยีไร้สัมผัสมาใช้ตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งโรงแรมหลายแห่งได้ลงทุนกับเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงในลิฟต์หรือในห้องพัก การใช้กุญแจดิจิทัล (Digital key) ในการปลดล็อกห้องพักผ่านสมาร์ตโฟน (Smart Phone) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการใช้ระบบเซนเซอร์ (Censor) สั่งการแทนการสัมผัส การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า การยืนยันตัวบุคคลด้วยไบโอเมตริก (Biometrics) ซึ่งปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัสไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดความสะดวกสบายและแสดงถึงวิถีชีวิตที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งที่อยู่ในโรงแรม สนามบิน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

2. แรงงานดิจิทัล (Digital Workforce) แรงงานดิจิทัลจะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ทั้งการใช้พนักงานหุ่นยนต์เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการถึงหน้าประตูห้องพัก การให้บริการในภัตตาคารหรือในสนามบิน รวมถึงการใช้หุ่นยนต์พูดคุยโต้ตอบกับนักท่องเที่ยวสำหรับคำถามที่นิยมถามบ่อย ๆ โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและความเสี่ยงต่อโรคระบาด ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของพนักงานที่เป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างมาก

3. หนังสือเดินทางดิจิทัลหรือพาสปอร์ตดิจิทัล (Digital Passport) รัฐบาลในหลายประเทศกำลังพิจารณาการใช้วัคซีนพาสปอร์ตในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศ รวมถึงใช้เพื่อยืนยันประวัติการฉีดวัคซีนของผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สาธารณะต่าง ๆ นอกจากนวัตกรรมการยืนยันตัวตนดิจิทัลจะช่วยเรื่องการควบคุมโรคระบาดแล้ว การพัฒนาพาสปอร์ตดิจิทัลในอนาคตจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้เดินทางสามารถควบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ได้มากขึ้นด้วย

4. แพลตฟอร์มวางแผนการท่องเที่ยว (Tour Management Platforms) เป็นระบบที่ช่วยให้การวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวมีความยืดหยุ่นและปรับเข้ากับความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น ทั้งในเรื่องของเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน รวมทั้งระบบนำทางอิจฉริยะในรถยนต์ โดยจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถออกแบบและวางแผนการท่องเที่ยวของตัวเองได้อย่างหลากหลายและตรงตามความต้องการ

5. ประสบการณ์ทางเลือก (Alternative Experience) เป็นการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ทางเลือกให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ชมที่สามารถรับชมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยสามารถรับชมผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้จากที่บ้าน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็กเล็ก รวมถึงคนที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเสมือนจริงที่มีความสะดวกและปลอดภัยจากการเดินทาง และการแพร่ระบาดของโควิด 19 

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโควิด 19 แต่เชื้อโรคได้มีการพัฒนาและกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้การรักษามาตรการป้องกันโรคและการเพิ่มความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยให้กับนักท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่จะช่วยให้การท่องเที่ยวภายในประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้ และยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมทั้งเป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไปด้วย

ภาพปก