เงินเฟ้อ (Inflation)

ผู้เรียบเรียง :
พิมพ์ธัญญา ฆ้องเสนาะ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง    ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง เพราะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากขึ้นแต่กลับได้รับสินค้าหรือบริการในปริมาณเท่าเดิมหรือน้อยลงซึ่งเป็นการแสดงถึงมูลค่าของเงินที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ ภาวะเงินเฟ้อจะเกิดเมื่อความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นแต่สินค้าและบริการในตลาดไม่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งกำไรของผู้ผลิตหรือราคาวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ผู้ขายและผู้ผลิตปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น หรืออาจเกิดจากการกำหนดและดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ อัตราเงินเฟ้อนั้นสามารถวัดได้จากดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งคำนวณโดยกระทรวงพาณิชย์จากข้อมูลราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำจากตลาดและแหล่งจำหน่ายทั่วประเทศ  ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งคำนวณจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในทุกกลุ่มรายการสินค้าทั้งอาหารสด เครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การคมนาคมขนส่ง พลังงาน  และอื่น ๆ เช่น การศึกษา การสันทนาการ การสื่อสาร และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาในกลุ่มสินค้าอาหารสดและพลังงานออก เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคามีความผันผวนสูงในระยะสั้น ซึ่งส่วนมากเป็นผลมาจากปัจจัยจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงเกินไปนอกจากจะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้รายได้ที่ได้รับไม่เพียงพอในการดำรงชีพแล้ว ยังส่งผลให้ภาคธุรกิจผู้ประกอบการอาจตัดสินใจชะลอหรือย้ายฐานการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้คนว่างหรือตกงาน   มากขึ้น เพราะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้และต้นทุนการผลิตมีความไม่แน่นอน ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากสินค้าส่งออกมีราคาสูงมากกว่าเมื่อเทียบกับราคาสินค้าส่งออกของประเทศอื่น ๆ อีกทั้งยังไม่เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจหรือลงทุน นำไปสู่การบั่นทอนศักยภาพในการผลิต และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว สำหรับการแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อธนาคารกลางอาจลดความต้องการซื้อสินค้าและบริการหรืออุปสงค์รวมด้วยการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดด้วยการลดปริมาณหรืออุปทานของเงินเพื่อให้สภาพคล่องของตลาดลดลง โดยมีมาตรการทางการเงิน เช่น ธนาคารกลางขายหลักทรัพย์ให้ธนาคารพาณิชย์ การเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมาย การเพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลดตั๋วเงินหรือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่วนรัฐบาลอาจใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวด  ทั้งการลดค่าใช้จ่ายในการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล การควบคุมราคาสินค้า ค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มขึ้นของกำไรของผู้ผลิต หรือควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยโดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พบว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 2.17 โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันและราคาพลังงานของภาครัฐ ขณะที่ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกรและไข่ไก่ที่ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน  การเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร ประกอบกับปริมาณผลผลิตที่ลดลงเพราะผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกรลง รวมถึงน้ำมันพืช ข้าวราดแกงและกับข้าวสำเร็จรูปที่ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ และเมื่อสรุปสถานการณ์เงินเฟ้อโดยเฉลี่ยปี 2564 พบว่า เงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.23 และเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.23

ภาพปก