โครงการสำนักงานที่ดินวิถีใหม่

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-07
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันสภาวการณ์ของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นมนุษย์จะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปพร้อมกันทั่วโลก เช่น เคยออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปทำงาน หรือไปโรงเรียน แต่กลับต้องทำงานอยู่ที่บ้านและเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ (Online) หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายสินค้าต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งต้องไปพบแพทย์ จำเป็นต้องมีการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยการใส่หน้ากากอนามัย ต้องมีการเว้นระยะห่างสำหรับบุคคล ต้องล้างมือบ่อย ๆ เช็ดมือด้วยแอลกอฮอล์ ฯลฯ รวมถึงการปรับเปลี่ยนการดำเนินการด้านธุรกิจและบริการต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อให้ธุรกิจและการบริการต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ อีกทั้งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกอีกด้วย โดยการปรับเปลี่ยนไปสู่การเปิดระบบลงทะเบียนออนไลน์ การใช้ระบบซื้อขายและบริการทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวิถีใหม่ในการดำรงชีวิต ซึ่งเมื่อมีการปฏิบัติกันเป็นปกติอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งจนเกิดความพึงพอใจ ทำให้ในที่สุดก็จะกลายเป็นรูปแบบของการใช้ชีวิตวิถีใหม่

สำหรับภาครัฐเองก็มีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาติดต่อราชการ และในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมี “ศูนย์ราชการสะดวก” โดยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ จัดให้มีศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center: GECC) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกรมที่ดินซึ่งมีหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนและการรังวัดที่ดิน ซึ่งกรมที่ดินมีสำนักงานที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ กรมที่ดินจึงมีนโยบายที่จะยกระดับการให้บริการประชาชน โดยผลักดันให้สำนักงานที่ดินทั่วประเทศสมัครขอรับรองมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวก (GECC) เพื่อมุ่งพัฒนาให้เป็นองค์กรยุคใหม่ และเป็นระบบราชการ 4.0 สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งหวังให้มีการบริหารจัดการที่ “สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย” และมีความพึงพอใจต่องานบริการ

ดังนั้น กรมที่ดินจึงได้นำเสนอ “โครงการสำนักงานที่ดินวิถีใหม่” ด้วยมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) โดยให้สำนักงานที่ดินทุกแห่งให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการแก่ประชาชนที่มาติดต่อได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย ทำให้ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการบริการของสำนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เป็นศูนย์ราชการสะดวกที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เกิดการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการกับสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานที่ดินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) แล้วตั้งแต่ปี 2560-2564 มีจำนวน 101 แห่ง สำหรับในปี 2565 นี้ กรมที่ดินได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับสำนักงานที่ดินอื่นที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อขอรับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว โดยให้สำนักงานที่ดินได้ทำการประเมินตนเอง โดยการพัฒนางานบริการและเตรียมความพร้อมในการสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานให้เพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้ สำนักงานที่ดินทุกแห่งทั่วประเทศได้มีการปรับปรุงสำนักงาน และพัฒนาคุณภาพ
การให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวทางของ
ศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ดังนี้ 

1) ทำแบบสำรวจความต้องการของผู้รับบริการของสำนักงานที่ดินจังหวัดต่าง ๆ ว่าต้องการให้สำนักงานที่ดินปรับปรุงพัฒนาในเรื่องใด อาทิ

  • (1) ประเภทงานบริการที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาปรับปรุง ได้แก่ งานด้านทะเบียน งานด้านรังวัดที่ดิน และงานบริการอื่น ๆ
  • (2) การเปิดบริการนอกเวลาราชการ
  • (3) ปรับปรุงสถานที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ
  • (4) ความสะดวกในการเข้าถึงจุดบริการ เช่น ต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์ลำดับขั้นตอน และกรอบระยะเวลาการบริการ มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา คัดกรองเอกสาร มีแบบฟอร์มการขอรับบริการต่าง ๆ ที่ง่าย และไม่ซับซ้อน
  • (4) สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น มีคอมพิวเตอร์ให้บริการตรวจสอบข้อมูลที่ดิน มีบริการ Wi-Fi
  • (5) การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับที่ดิน เช่น การคำนวณค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ราคาประเมินที่ดิน/อาคารชุด ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดิน 

2) มีการจัดหรือออกแบบอาคารสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุ ตลอดจนมีการปรับปรุงห้องน้ำสำหรับประชาชนให้สะอาดและได้มาตรฐาน 

3) มีการปรับภูมิทัศน์ภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน ตลอดจนจัดให้มีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมกับพื้นที่และการพักผ่อนระหว่างรอรับบริการของประชาชน 

4) มีการจัดทำแผนบริหารความต่อเนื่องในการให้บริการ มีการฝึกซ้อมและทบทวนแผนต่าง ๆ เป็นต้น

“โครงการสำนักงานที่ดินวิถีใหม่” จึงนับว่าเป็นมิติใหม่ของการบริหารจัดการของกรมที่ดินที่ต้องการยกระดับการพัฒนางานบริการ และคุณภาพของการให้บริการของสำนักงานที่ดินสู่ความเป็นเลิศ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการจากกรมที่ดินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สำนักงานที่ดินทั่วประเทศมีมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่    

ภาพปก