หลักการปารีส หลักพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ผู้เรียบเรียง :
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันระดับชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รายงานดังกล่าวได้นำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (UN International Workshop on National Institutions for the Promotion and Protection of Human Rights) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสในปี 1991 (พ.ศ. 2534) ทำให้เกิดการจัดทำ “หลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” หรือที่เรียกกันในชื่อ “หลักการปารีส” (Paris Principles) เป็นหลักการที่จัดทำขึ้นในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ในปี 1993 (พ.ศ. 2536) หลักการปารีสได้กำหนดแนวทางในการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติในประเทศต่าง ๆ กำหนดสถานะและหน้าที่รับผิดชอบของสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ถือว่าหลักการปารีสเป็นมาตรฐานสากลระหว่างประเทศที่จะทำให้สถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติในประเทศต่าง ๆ มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ซึ่งได้วางหลักเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อให้แต่ละประเทศนำไปเป็นแนวทางจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้


1) การจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นภายในประเทศ

2) อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะต้องระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอย่างชัดเจน รวมถึงการกำหนดองค์ประกอบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ โดยหน้าที่หลักของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และการเสนอรายงานต่อรัฐบาล รัฐสภา และองค์กรอื่น ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การให้คำปรึกษาไม่ว่าจะได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการใช้อำนาจของตนเองในการรับฟังข้อมูลโดยไม่ต้องส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือกว่า ดำเนินการส่งเสริมและประกันว่ากฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในประเทศมีความสอดคล้องกับตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคีอย่างมีประสิทธิผล ส่งเสริมให้มีการให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติตราสารระหว่างประเทศต่าง ๆ และประกันให้มีการปฏิบัติตามตราสารนั้น ๆ จัดทำรายงานที่ต้องเสนอต่อหน่วยงานและคณะกรรมการต่าง ๆ ของสหประชาชาติ และสถาบันระดับภูมิภาคตามพันธกรณีในสนธิสัญญา ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำแผนงานสำหรับการสอนและการวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และมีส่วนร่วมในการดำเนินแผนงานดังกล่าวในวงวิชาการ

3) องค์ประกอบและหลักประกันในความเป็นอิสระและความหลากหลายของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การกำหนดองค์ประกอบของสถาบันระดับชาติและการแต่งตั้งสมาชิกของสถาบันไม่ว่าจะด้วยวิธีการเลือกตั้งหรือด้วยวิธีการอื่นใด จะต้องเป็นกระบวนการที่มีหลักประกันทำให้มั่นใจได้ว่าสถาบันจะเป็นตัวแทนที่หลากหลายของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สถาบันแห่งชาติจะต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมที่จะทำให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างราบรื่น ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอเพื่อให้สถาบันแห่งชาติสามารถมีเจ้าหน้าที่และสถานที่เป็นของตนเอง และเพื่อประกันว่าสมาชิกของสถาบันแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล การแต่งตั้งสมาชิกจึงต้องเกิดจากการดำเนินการอย่างเป็นทางการ โดยมีการกำหนดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน บุคคลอาจได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งได้มากกว่า 1 วาระ หากการกระทำเช่นนั้นไม่กระทบต่อความหลากหลายของสมาชิกภาพภายในสถาบัน

4) วิธีการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การดำเนินงานภายใต้อำนาจหน้าที่ของสถาบัน คือ พิจารณาปัญหาใด ๆ ที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นอิสระ รับฟังบุคคลและรับข้อมูลและเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อประเมินสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของสถาบัน ให้ความเห็นต่อสาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสถาบัน จัดประชุมอย่างสม่ำเสมอ จัดตั้งคณะทำงานของสถาบันแห่งชาติตามความจำเป็น จัดตั้งส่วนงานในท้องถิ่นหรือภูมิภาคเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ และให้มีการปรึกษาหารือกับองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางศาลหรือองค์กรอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

5) หลักการเพิ่มเติมสำหรับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีอำนาจกึ่งตุลาการ โดยอาจได้รับอำนาจให้มีหน้าที่ในการรับฟังและพิจารณาข้อร้องเรียนและเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับกรณีของปัจเจกบุคคล โดยเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ อาจถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของสถาบันแห่งชาติได้ ในกรณีดังกล่าวคณะกรรมการอาจมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบนพื้นฐานตามหลักการโดยไม่กระทบต่อหลักการของอำนาจอื่นด้วย 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมีฐานะเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินสถานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) ได้ประเมินสถานการณ์ดำเนินงานของ กสม. เป็นระดับ B หมายถึง มีความสอดคล้องกับหลักการปารีสบางส่วน ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งการประเมินให้สถานะ B มิได้เป็นตัวชี้วัดว่าการดำเนินงาน กสม. นั้นไม่มีประสิทธิผล แต่พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีประเด็นข้อกังวล คือ 1) กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม 2) ความล่าช้าในการจัดทำรายงานตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีเกิดสถานการณ์ที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และ 3) การขาดความคุ้มกันทางกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประกันความเป็นอิสระ ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่ครอบคลุมประเด็นข้อกังวลทั้ง 3 ข้อเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หาก กสม. สามารถดำเนินการตามข้อกฎหมายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม จะมีโอกาสยกระดับสถานะเป็นระดับ A ให้สอดคล้องกับหลักการปารีสโดยสมบูรณ์ จะช่วยให้สร้างความเชื่อมั่นการดำเนินงานของ กสม. ที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพปก