โครงการอำเภอสร้างสุข 2564

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

โดยที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น จึงมีการมอบนโยบายสำคัญให้กับข้าราชการใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้ชื่อ “10 โครงการสำคัญของกรมการปกครอง” (10 Flagships to DOPA All Smart 2022) ได้แก่ 

1) โครงการจิตอาสาพระราชทาน 

2) การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

3) การปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ 

4) ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ “อำเภอดำรงธรรม” 

5) สัญชาติและสถานะบุคคล 

6) อำเภอ..วิถีใหม่ 

7) แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง (หมู่บ้านเข้มแข็ง) “หมู่บ้าน อยู่เย็น” 

8) อำเภอคุณธรรม “ต้นแบบ” 

9) อำเภอมั่นคง สีขาว ปลอดยาเสพติด 

10) อำเภอมั่งคั่ง 

ส่วน “โครงการอำเภอสร้างสุข 2564” เป็นโครงการหนึ่งที่จัดทำขึ้นภายใต้ 10 โครงการดังกล่าว โดยมีการเร่งรัดพัฒนาศักยภาพด้วยการนำนวัตกรรมทุกรูปแบบมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนงานบริการประชาชนผ่านหน่วยบริการของกรมการปกครอง โดยเฉพาะที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนโครงการสำคัญสู่การเป็นกรมการปกครองวิถีใหม่ ซึ่งกรมการปกครองได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรผ่าน 10 โครงการสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การส่งเสริมสถาบันหลักของชาติ 2) การยกระดับงานบริการ และ 3) การสร้างความเข้มแข็งระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ให้เห็นได้ว่า “การให้บริการประชาชน ถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรในยุควิถีใหม่ (New Normal)” โดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง มุ่งหวังให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย เป็นไปตามมาตรฐานของศูนย์ราชการสะดวก โดยกรมการปกครองได้ส่งเสริมให้ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประทศเป็นสถานที่ให้บริการและช่วยเหลือประชาชน ทำให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน ทั้งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ และด้านสังคม ความท้าทายเหล่านี้เอง “ที่ว่าการอำเภอ” ในฐานะหน่วยให้บริการใกล้ชิดประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ (New Normal) ให้เร็วที่สุด ซึ่งสอดรับกับภารกิจหลักของกรมการปกครองที่ดูแลด้านความมั่นคง การให้บริการประชาชน จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายผ่าน 10 โครงการสำคัญของกรมการปกครอง ถือเป็นสิ่งที่กรมการปกครองได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะที่ทำการปกครองอำเภอทั้ง 878 แห่ง มีการตั้งเป้าหมายการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ข้าราชการหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ให้ดีที่สุด ซึ่งการปรับตัวในเนื้องานบริการ จะต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก โดยเห็นได้จากหนึ่งในโครงการสำคัญอย่าง “โครงการอำเภอ..วิถีใหม่” ที่นำนวัตกรรมที่เหมาะสมมาปรับใช้เพื่อให้งานบริการมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะกรมการปกครองมีความตั้งใจที่จะให้ทุกการบริการอำนวยความสะดวกสบาย ทำให้ประชาชนได้รับความสุข มีรอยยิ้มอย่างแท้จริง 

สำหรับ “โครงการอำเภอสร้างสุข 2564” ถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 ที่มีเป้าหมายให้ที่ว่าการอำเภอ เป็นศูนย์กลางของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ผ่านงานบริการ การให้ความช่วยเหลือประชาชน โครงการอำเภอสร้างสุข จึงเป็นการรับฟังเสียงจากประชาชน ผ่านคำติชม ข้อเสนอแนะที่สามารถสื่อสารโดยตรงมายังกรมการปกครอง เพื่อให้สามารถนำมาพัฒนามาตรฐานงานบริการประชาชนให้ดีที่สุด ซึ่งโครงการอำเภอสร้างสุขที่ผ่านมา กรมการปกครองได้เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการรับบริการ ณ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) ของกรมการปกครอง ซึ่งทำให้ได้เห็นมุมมองต่าง ๆ จากภาคประชาชน ซึ่งมีทั้งคำชื่นชม คำติชมและข้อเสนอแนะ

โครงการอำเภอสร้างสุข ในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับรูปแบบให้ประชาชนที่มาใช้บริการตรงจุด ณ ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศได้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงเป้าหมายเดิม คือ เพื่อการรับฟังเสียงของประชาชนต่อการให้บริการของแต่ละที่ว่าการอำเภอ ซึ่งประชาชนสามารถร่วมกิจกรรมได้โดยการสแกน QR Code ในแต่ละอำเภอ หรือแอดไลน์ @amphoesangsook เพื่อโหวตให้คะแนน “ความสุข” ประเมินความพึงพอใจระดับ 1-5 และสามารถเขียนคำติชม ข้อเสนอแนะต่องานบริการเพิ่มเติม ซึ่งผลคะแนนจะถูก นำมาคิดค่าเฉลี่ยดัชนีความสุขของประชาชน เพื่อจัดอันดับอำเภอที่บริการประทับใจประชาชน แสดงผลผ่านเว็บไซต์ “อำเภอสร้างสุข.com (amphoesangsook.com)” และข้อมูลจากประชาชนทั้งหมด 878 อำเภอ ก็จะถูกรวบรวมส่งมายังส่วนกลางของกรมการปกครอง เพื่อนำมาประเมินและพัฒนางานบริการต่อไป

“อำเภอสร้างสุข” ถือเป็นหนึ่งในพื้นฐานความสำเร็จของมาตรฐานจากศูนย์ราชการสะดวกสังกัดกรมการปกครอง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center: GECC) ระดับพื้นฐาน (โล่สีฟ้า) ซึ่งศูนย์ราชการสะดวกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานมีจำนวนทั้งสิ้น 27 ศูนย์ อยู่ในพื้นที่ 24 อำเภอ 20 จังหวัด ศูนย์ที่ได้รับมาตรฐาน GECC ต้องมีมาตรฐานการให้บริการ การอำนวยความสะดวกต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งถือเป็นหัวใจเดียวกับโครงการอำเภอสร้างสุขที่ยึดประชาชนเป็นที่ตั้งในการให้บริการ ตัวอย่าง “สำนักทะเบียนอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก” ที่ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริการ รวมถึงรูปแบบการให้บริการสร้างสรรค์ นำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในทุกมิติ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการประชาชนมุ่งไปสู่ศูนย์ราชการสะดวก

ภาพปก