ตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย

ผู้เรียบเรียง :
ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัญหาการอพยพของผู้ลี้ภัยนั้นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมามีการอพยพลี้ภัยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดภาระแก่ประเทศต่าง ๆ ทำให้เกิดการกีดกันผู้ลี้ภัยไม่ให้เข้าประเทศ อีกทั้งยังมีการผลักดันผู้ลี้ภัยให้กลับประเทศต้นทาง ทั้งที่ยังมีปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในประเทศต้นทาง สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย
    
ในอดีตที่ผ่านมาได้มีการก่อตั้งหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งถือว่าเป็นองค์การระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) จนถึง ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) โดยได้มีการประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross: ICRC) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากภัยสงคราม 
    
หลังจากนั้นได้มีองค์การสหประชาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ต่อจากองค์การสันนิบาตชาติ โดยมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการบัญญัติคำนิยามของคำว่า “ผู้ลี้ภัย” ไว้อย่างชัดเจนและหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัย โดยได้บัญญัติไว้ในตราสารระหว่างประเทศ 2 ฉบับ คือ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510)

ในที่นี้จะขอนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยตามตราสาร 2 ฉบับดังกล่าว ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยใน 2 ส่วนดังนี้ ส่วนแรก คือ คำนิยามในมาตรา 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และในมาตรา 1 ของพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) กล่าวถึงคำนิยามของคำว่า “ผู้ลี้ภัย (Refugee)” หมายถึง บุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตนอันเป็นผลจากเหตุการณ์ก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) และด้วยความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิดด้านการเมืองก็ตาม และในขณะเดียวกันบุคคลผู้นี้ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะรับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติเนื่องจากความหวาดกลัวดังกล่าว นอกจากนี้เป็นผู้ไร้สัญชาติซึ่งอยู่นอกอาณาเขตแห่งรัฐที่เดิมมีถิ่นฐานพำนักประจำแต่ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะกลับไปเพื่อพำนักในรัฐดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวที่กล่าวมาข้างต้น 
    
ส่วนที่สอง ตามมาตรา 33 ของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยนั้น ในหลักการห้ามผลักดันผู้ลี้ภัย (non-refoulement) กล่าวคือ รัฐภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวจะต้องไม่ผลักดันหรือส่งผู้ลี้ภัยกลับสู่ประเทศ  ต้นทาง หากปรากฏว่าการผลักดันกลับเช่นว่านั้นจะเป็นภยันตรายต่อชีวิตของผู้นั้น
    
ดังนั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า ตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ถือเป็นเครื่องมือให้ความหมายทางสถานะของผู้ลี้ภัยไว้อย่างชัดเจนและสิทธิของผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยและพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยได้กำหนดหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงการห้ามมิให้ขับไล่หรือส่งกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่าองค์การสหประชาชาติยังคงยึดมั่นในหลักที่ว่ามนุษยชนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติ

ภาพปก