การใช้ยาควบคุมฮอร์โมนเพศของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

ผู้เรียบเรียง :
ศรันยา สีมา, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หมายถึง พฤติกรรมทางเพศที่ถือว่าเป็นการขัดต่อธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมของสังคม เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำอนาจาร

การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา กระทำอนาจาร ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง ทั้งทางร่างกายและจิตใจถึงขั้นเสียชีวิตหรือมีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) ได้ แม้กฎหมายอาญาของประเทศไทยได้กำหนดอัตราโทษของการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศไว้สูงถึงประหารชีวิตก็ตาม แต่ก็ยังคงปรากฏข่าวการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ซึ่งผู้กระทำความผิดมักจะเป็นผู้ที่เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อนและกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก ดังจะเห็นได้จากสถิติการกระทำความผิดซ้ำของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในความผิดเกี่ยวกับเพศกลับมากระทำความผิดซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปีถึง 162 คน และมีอัตราการกระทำความผิดซ้ำอยู่ในอันดับ 5 เมื่อเทียบกับความผิดอื่น  

การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ นอกจากจะมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในวัยเด็กของผู้กระทำความผิด สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมทางสังคมที่ถือว่าผู้ชายอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าผู้หญิงแล้ว ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อก็เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศได้ เพราะทำให้การขับฮอร์โมนไม่สมดุล และเมื่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมลักษณะความเป็นผู้ชายในร่างกายมีปริมาณมากเกินไป จะทำให้ไม่สามารถควบคุมความต้องการทางเพศได้ ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการลดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายของผู้กระทำความผิดลง เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศซ้ำอีก

สำหรับวิธีการที่นำมาใช้ควบคุมฮอร์โมนเพศของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในประเทศต่าง ๆ นั้น มีอยู่ 2 วิธี คือ

  1. การตัดอัณฑะ (surgical castration) ซึ่งเป็นการผ่าตัดร่างกายเพื่อตัดอัณฑะของผู้กระทำความผิดออกไปทั้งหมด ทำให้ผู้กระทำความผิดไม่มีความรู้สึกทางเพศอีกต่อไป แต่เนื่องจากวิธีการนี้ถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงถูกยกเลิกไปในหลายประเทศ และ
  2. การใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศ (chemical castration) ซึ่งเป็นการนำยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน (anti-androgen drug) มาใช้ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำแทนวิธีการตัดอัณฑะ โดยยาที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจน จะออกฤทธิ์เร่งการเผาผลาญฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรนในร่างกายของผู้ได้รับยาและยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิง (luteinizing hormone: LH) ในต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอร์โรนในเลือดของผู้ได้รับยาลดลง

ส่วนประเทศไทยได้มีกระแสเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายให้นำยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศมาใช้กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศมาโดยตลอด เพื่อให้มีมาตรการในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศและป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันได้มีการตราพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ขึ้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการทางการแพทย์หรือมาตรการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในระหว่างรับโทษในเรือนจำได้ ดังนั้น การใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ จึงเป็นหนึ่งในมาตรการทางการแพทย์ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศได้ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทั้งนี้ การใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศของผู้กระทำความผิด จะทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลให้ใช้มาตรการทางการแพทย์ในการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน ซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกัน โดยต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชและสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละ 1 คน อีกทั้งผู้กระทำความผิดต้องให้ความยินยอมด้วย เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

แม้การใช้ยาเพื่อควบคุมฮอร์โมนเพศของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดกระทำความผิดซ้ำอีกได้ ส่งผลให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำความผิดด้วย เนื่องจากการใช้ยาควบคุมฮอร์โมนเพศอาจมีผลข้างเคียงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้กระทำความผิดได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือแพทย์ต้องแจ้งขั้นตอน วิธีการ ผลของการรักษา ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมีความเข้าใจและได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอประกอบการตัดสินใจในการให้ความยินยอม และหน่วยงานของรัฐควรต้องมีการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศและการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ภาพปก