ขี้แดดนาเกลือกับประโยชน์ทางการเกษตร

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การทำนาเกลือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาสืบต่อกันมาช้านาน แต่เดิมการทำนาเกลือสมุทรหรือเกลือทะเลไม่ถือว่าเป็นเกษตรกรรม โดยตามหลักสากลว่าด้วยการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการแบ่งประเภทอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้กำหนดให้การขุดเกลือ บดเกลือ ร่อนเกลือ และการผลิตเกลือโดยใช้การระเหยของน้ำทะเล ทะเลสาบน้ำเค็ม หรือน้ำเค็มจากแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ โดยใช้แสงอาทิตย์เป็นกิจกรรมประเภทการทำเหมืองหินและเหมืองแร่ จนกระทั่งเมื่อปี 2554 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้การทำนาเกลือสมุทรเป็น “เกษตรกรรม” และผู้ที่ทำนาเกลือเป็น “เกษตรกร” ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายอื่นใดได้กำหนดคำนิยามไว้เป็นการเฉพาะหรือกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้น 

โดยจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ในปี 2564/65 ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล รวมทั้งสิ้นจำนวน 624 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565) และมีพื้นที่การทำนาเกลือทะเลใน 7 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร เพชรบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ปัตตานี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี โดยจังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่ทำนาเกลือมากที่สุดของประเทศ (ร้อยละ 50.34) รองลงมาคือเพชรบุรี (ร้อยละ 34.07) และสมุทรสงคราม (ร้อยละ 11.93) ตามลำดับการทำนาเกลือทะเลเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาปัจจัยทางธรรมชาติ ได้แก่ พื้นดิน น้ำทะเล ลมทะเล และแสงแดด เพื่อให้ได้ผลผลิตเกลือทะเลที่มีปริมาณและคุณภาพ โดยฤดูการทำนาเกลือในภาคกลางเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ขณะที่การทำนาเกลือในภาคใต้สามารถทำได้ปีละ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน และครั้งที่สองตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน หลังจากนั้นจะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกจึงไม่สามารถทำนาเกลือได้ การทำนาเกลือนอกจากจะได้เกลือทะเลเป็นผลผลิตแล้ว ยังมีผลพลอยได้อื่น ๆ จากการผลิตเกลือทะเลด้วย เช่น น้ำเค็ม เกลือจืด (ยิปซั่ม) ดีเกลือ ดอกเกลือ ขี้แดดนาเกลือ เป็นต้น

สำหรับขี้แดดนาเกลือซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำนาเกลือนั้น เกิดขึ้นจากสาหร่าย ตะไคร่น้ำ และจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำ เมื่อน้ำในนาเกลือแห้งลง สาหร่าย ตะไคร่น้ำ และจุลินทรีย์ต่าง ๆ ดังกล่าวจะจับตัวกันเป็นแผ่นและแห้งกรอบ มีสีดำอมน้ำตาล แตกระแหงเป็นแผ่น ๆ ติดอยู่ที่บริเวณผิวดินในนาเกลือ เมื่อเตรียมพื้นที่เพื่อทำนาเกลือในฤดูถัดไป เกษตรกรผู้ทำนาเกลือต้องทำความสะอาดเก็บกวาดขี้แดดนาเกลือทิ้ง เนื่องจากหากมีเศษขี้แดดนาเกลือตกค้างจะทำให้พื้นที่นาเกลือไม่สม่ำเสมอ และเมื่อลอยขึ้นบนผิวน้ำจะทำให้บังแสงแดด ส่งผลให้น้ำทะเลระเหยช้าลง และเศษขี้แดดนาเกลือที่เหลืออยู่จะปะปนมากับผลึกเกลือ ทำให้เกลือทะเลที่ผลิตได้มีสีดำ ไม่ขาวใส ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต 

ในปัจจุบันขี้แดดนาเกลือได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ เนื่องจากขี้แดดนาเกลือมีคุณสมบัติทางเคมี มีธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) นอกจากนั้น ขี้แดดนาเกลือยังมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี สามารถใช้ในการปลูกพืช เพื่อช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุยขึ้น โดยได้มีการนำขี้แดดนาเกลือไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพและรสชาติของผลไม้ เช่น ลดอาการยางไหลและเนื้อแก้วในผลมังคุด เพิ่มรสชาติความหวานในส้มโอ แก้วมังกร ฝรั่ง ชมพู่ มะพร้าวน้ำหอม นอกจากนั้น ยังได้มีการนำขี้แดดนาเกลือบดผสมในอาหารสัตว์เพื่อใช้ในการเลี้ยงไก่ นก ปลาเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การใช้ขี้แดดนาเกลือมีข้อพึงระวัง โดยควรใช้ขี้แดดนาเกลือที่เก็บมาแล้ว 5-6 เดือน และการใช้ขี้แดดนาเกลือเป็นปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มรสชาติของผลไม้ควรใส่ก่อนเก็บผลผลิต 1-2 เดือน อัตราการใช้ขี้แดดนาเกลือกับไม้ผล 1-3 กิโลกรัมต่อต้น โดยเริ่มจากใช้ปริมาณน้อยก่อนและสังเกตผลผลิตที่ได้ แล้วจึงปรับปริมาณการใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ หากพืชมีลักษณะใบไหม้หรือแคระแกร็น ให้หยุดการใช้และให้รดน้ำตามในปริมาณมาก นอกจากนั้น ยังได้มีการพัฒนาต่อยอดนำขี้แดดนาเกลือมาเป็นส่วนผสมสำหรับผลิตปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลืออัดเม็ด ซึ่งช่วยทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้นและเพิ่มมูลค่า 

การนำขี้แดดนาเกลือซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำนาเกลือทะเลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว ยังทำให้เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล ได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถนำรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเลอีกทางหนึ่งด้วย

ภาพปก