พืชจีเอ็มโอ (GMO) กับการนำเข้าจากต่างประเทศ

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2565-10
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMO) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “พืชจีเอ็มโอ” (GMO) เป็นพืชที่ได้รับการตกแต่งหรือตัดต่อพันธุกรรมโดยการผสมและคัดเลือกพันธุ์ด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) ซึ่งเป็นการนำเอายีน (gene) หรือหน่วยพันธุกรรมที่ได้มีการศึกษาถึงคุณสมบัติและหน้าที่โดยชัดเจนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งนำไปใส่ในอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เพื่อให้มีการแสดงออกของยีนหรือคุณลักษณะที่จำเพาะเจาะจงตามที่เราต้องการ เช่น มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ต้านทานต่อแมลงศัตรูพืช หรือมีการเพิ่มขึ้นของสารโภชนาการบางชนิด เช่น วิตามิน โปรตีน ไขมัน 

การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตรในประเทศไทยนั้น กรมวิชาการเกษตรควบคุมและดูแลการนำเข้าพืชที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 โดยกำหนดให้พืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรมจากทุกแหล่งเป็นสิ่งต้องห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2553 ซึ่งจากกรณีที่มีการประกาศขาย “สับปะรดสีชมพู” (Pinkglow) ผ่านทางช่องทางออนไลน์ในประเทศไทยนั้น สับปะรดดังกล่าวเป็นการพัฒนาพันธุ์ให้มีเนื้อสีชมพู มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน ด้วยกระบวนการตัดต่อพันธุกรรม (Genetically Modified Pineapple) ที่มีการปลูกและนำเข้ามาจากประเทศคอสตาริกา แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ (GMO) เว้นแต่เป็นการนำเข้าเพื่อการทดลองหรือการศึกษาวิจัย เนื่องจากพืช ผัก ผลไม้จีเอ็มโอ (GMO) อาจปนเปื้อนกับพืชท้องถิ่น กระทบต่อผู้บริโภค และกระทบกับการส่งออก การลักลอบนำเข้าพืชจีเอ็มโอ (GMO) จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยนั้น ถ้าไม่ได้เป็นไปตามข้อยกเว้น มีความผิดตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้น กรณีที่กรมวิชาการเกษตรตรวจพบว่ามีการลักลอบซื้อ ขาย หรือปลูก สามารถยึด อายัด และทำลายพืชนั้นได้ทันที โดยผู้ซื้อหรือผู้ขายไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้

การขออนุญาตนำเข้าพืชตัดต่อพันธุกรรม ผู้นำเข้าต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกำหนด ผู้ประสงค์จะนำเข้าต้องยื่นแบบขออนุญาตนำเข้าสิ่งต้องห้าม พร้อมหลักฐานตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 ณ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำหรับอาหารที่มีพืชจีเอ็มโอ (GMO) เป็นส่วนประกอบ ข้อยกเว้นในการนำเข้าอาหารสำเร็จรูปหรือการนำเข้าถั่วเหลืองหรือข้าวโพดตัดแต่งพันธุกรรมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารมนุษย์ อาหารสัตว์ หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม จะต้องผ่านกระบวนการประเมินความปลอดภัยโดยใช้หลักการเทียบเท่า (substantial equivalence) ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลตามกฎหมาย เนื่องจากได้มีการนำพืช สัตว์ จุลินทรีย์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร สมควรมีมาตรการควบคุมและกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม โดยกำหนดให้อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เว้นแต่ผ่านการประเมินความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งกำหนดให้อาหารจีเอ็มโอ (GMO) ทุกชนิดต้องแสดงฉลากตามเกณฑ์ที่กำหนด และอาจแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม พื้นสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่า “GMO” หรือข้อความเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมผ่านโปรแกรมแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ด้วยก็ได้ ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ พืชจีเอ็มโอ (GMO) แม้จะเป็นผลผลิตจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาในหลาย ๆ ด้านซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่การใช้หรือการบริโภคพืชจีเอ็มโอ (GMO) ของประชาชนนั้น ควรศึกษาถึงผลดี ผลเสีย รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อประกอบการเลือกและการนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย และด้วยประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชผักผลไม้นานาชนิด มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมและพันธุ์ที่มีการปรับปรุงแล้ว ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้หลากหลายตามฤดูกาลและเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศได้ตลอดทั้งปี รวมถึงสามารถผลิตเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดโลกได้ ดังนั้น การให้ข้อมูล การให้ความรู้ และการดำเนินการที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้านทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกในการนำพืชจีเอ็มโอ (GMO) มาใช้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อไป

ภาพปก