การสร้างระบบนิเวศในการทำงาน (Ecosystem)

ผู้เรียบเรียง :
นารีลักษณ์ ศิริวรรณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันมีปัจจัยหลายประการที่ผลักดันให้ภาครัฐต้องทบทวนบทบาทและการทำงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นบริบทการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว ความเชื่อมโยงของสถานการณ์โลกและสภาวะวิกฤตต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาซับซ้อนที่มีรูปแบบไม่แน่นอน มีความเฉพาะเจาะจง และไม่สามารถใช้แนวทางหรือวิธีการแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมได้อีกต่อไป ผลกระทบของภูมิศาสตร์การเมืองที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง การพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ ความน่าเชื่อถือของภาครัฐและความคาดหวังในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการแข่งขันบนความได้เปรียบของข้อมูล ภายใต้ปัจจัยผลักดันดังกล่าว ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน โดยการพัฒนาและปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นการดำเนินงานปฏิรูปประเทศที่สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ภาครัฐยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ซึ่งต้องมีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทภารกิจพร้อมปรับตัว มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารราชการ บูรณาการการทำงานและฐานข้อมูลภาครัฐ พัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐ รวมถึงแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  
    
การสร้างระบบนิเวศในการทำงาน (Ecosystem) จึงมีความสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยการพัฒนาความคิด ทักษะสำหรับการทำงานและการดำเนินชีวิตท่ามกลางความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสภาพแวดล้อมและระบบการทำงาน ทั้งทางกายภาพที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้บุคลากรภาครัฐสามารถแสดงพฤติกรรมที่คาดหวังตามกรอบความคิด (Mindset) ทักษะ (Skillsets) ออกมาได้อย่างมีประสิทธิผลและต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

  1. พัฒนากลไกในระบบการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HRM & HRD) ให้เชื่อมโยง สนับสนุน สอดคล้องซึ่งกันและกัน เพื่อให้การยกระดับคุณภาพของบุคลากรภาครัฐทั้งกระบวนการทางความคิด (Mindset) และทักษะ (Skillsets) บรรลุตามเป้าประสงค์ ซึ่งบุคลากรภาครัฐสามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงภาครัฐ โดยกลไกการพัฒนาจะต้องเชื่อมโยง และสอดคล้องกับระบบอื่น ๆ ของการบริหารงานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนกำลังคน การสรรหา การเลื่อนตำแหน่ง การประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) ความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Development) การสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) เป็นต้น และระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลควรต้องส่งเสริม สนับสนุนให้กระบวนการพัฒนาบุคลากรเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน จะทำให้บุคลากรภาครัฐเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่มีต่ออาชีพของตน
  2. กำหนดแนวทางหรือวิธีการพัฒนาที่สร้างการมีส่วนร่วม กำหนดมาตรฐานความสำเร็จของการพัฒนา ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ ที่ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของบุคลากรภาครัฐและการบริหารจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองของบุคลากร อาทิ ระบบการจัดการเรียนรู้ (Learning Management System: LMS) ระบบการจัดการข้อมูลความรู้ (Knowledge Management System) การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ในแอปพลิเคชัน หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้บุคลากรภาครัฐเข้าถึงแหล่งความรู้ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และยึดมั่นในค่านิยมการทำงานเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนร่วม โดยกำหนดให้เป็นค่านิยมร่วมของหน่วยงานพร้อมรณรงค์ กระตุ้นให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้ทันต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
  4. สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์รูปแบบการดำเนินชีวิตที่หลากหลายทั้งในส่วนของชีวิตส่วนตัวและการทำงานเข้าด้วยกัน (Work-Life Integration)
  5. สร้างเครือข่ายระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีกรอบความคิดและทักษะที่จำเป็นในการสร้างสรรค์ การเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ตลอดจนบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการรับฟังปัญหาและกำหนดแนวทางบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ

ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศในการทำงาน โดยได้กำหนดประเด็นการพัฒนาเพื่อการสร้างระบบนิเวศในการทำงาน (Ecosystem) ให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ คือ 1) ศักยภาพพัฒนาองค์กรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Agile Organization) และแข่งขันได้ด้วยนวัตกรรม และ 2) พัฒนากรอบความคิด (Mindset) และสมรรถนะของบุคลากรให้เท่าทันในศตวรรษที่ 21 (คนดี คนเก่ง และคนกล้า) ซึ่งเป็นการดำเนินงานของภาครัฐให้มีระบบนิเวศในการทำงานที่เหมาะสมและสอดรับกับบริบทแวดล้อมที่สามารถส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐเกิดการเรียนรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถแสดงพฤติกรรมที่คาดหวังออกมาอย่างมีประสิทธิผล

ภาพปก