การนำพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศไทยกับกฎหมายกักพืชที่ควรรู้

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ภายหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลงแล้ว หลายประเทศได้มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปและกลับจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากผู้เดินทางระหว่างประเทศจะต้องรู้กฎ ระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศปลายทางแล้ว เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย การนำสินค้าที่ซื้อจากต่างประเทศกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยนั้น นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านศุลกากรแล้ว การนำสินค้าประเภทพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศไทย ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัยทางสุขอนามัยพืชที่ประชาชนผู้เดินทางระหว่างประเทศต้องรู้และปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีโทษทางอาญาและถูกยึดสินค้าที่นำกลับเข้ามาด้วย

การเดินทางไปประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรประเภทพืชหรือผลไม้สดเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นที่มีคุณลักษณะดี เช่น สตรอเบอรี่ เมลอน องุ่น พลับ เป็นต้น ประชาชนที่ประสงค์จะซื้อกลับประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมและดูแลด้านความปลอดภัยทางสุขอนามัยพืช ได้กำหนดให้การนำเข้าพืชหรือผลไม้สดจัดเป็นสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) และมาตรา 10 การจะนำพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศไทย ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจากประเทศต้นทาง และมีใบอนุญาตนำเข้าสิ่งต้องห้าม ซึ่ง “ใบรับรองสุขอนามัยพืช” (Phytosanitary certificate) คือ หนังสือสำคัญที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกซึ่งพืช เพื่อรับรองว่าพืชที่ส่งออกปลอดจากศัตรูพืช ตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า และ “ใบอนุญาตนำเข้า” (Import permit) คือ เอกสารทางราชการที่อนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าและเป็นไปตามข้อกำหนดการนำเข้าด้านสุขอนามัยพืชตามชนิดที่ระบุ 

การตรวจสอบการนำเข้าพืชหรือผลไม้สดจากต่างประเทศ ด่านตรวจพืชจะตรวจสอบการนำเข้าร่วมกับกรมศุลกากร ผู้ที่นำพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศไทยโดยไม่สำแดงใบอนุญาตนำเข้าและใบรับรองสุขอนามัยพืชในทุกช่องทาง เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่นำพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศ โดยไม่มีเจตนากระทำผิด ซึ่งอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ทราบว่ามีกฎหมายกำหนดให้การนำพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศไทย ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชจากประเทศต้นทาง มีใบอนุญาตนำเข้าจากกรมวิชาการเกษตร และต้องแจ้งนำเข้ากับด่านตรวจพืชเพื่อขอออกหนังสืออนุญาตก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยาน จึงมีการสละการครอบครองสินค้าใน Quarantine bin (Q-Bin) หรือเมื่อมีการตรวจพบจากเจ้าหน้าที่ อาจถูกตักเตือนและถูกยึดพืชหรือผลไม้สดเพื่อนำไปทำลายด้วยวิธีการเผาด้วยอุณหภูมิสูง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ศัตรูพืชร้ายแรง เช่น แมลงศัตรูพืช โรคพืช หรือวัชพืชจากต่างประเทศที่ติดมากับพืชเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและระบบนิเวศของประเทศไทย อีกทั้งทำความเสียหายให้กับพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ 

ส่วนผู้ที่ประสงค์จะนำเข้าพืชหรือผลไม้สดเพื่อการค้า ผู้นำเข้าต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตนำเข้า โดยต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับมากับสินค้าทุกครั้ง และต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าหรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัดและสิ่งไม่ต้องห้าม พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยของพืชแต่ละชนิดและตามแหล่งที่มาด้วย อาทิ การนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากประเทศญี่ปุ่น ต้องเป็นไปตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลสตรอเบอรี่สดจากประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2562 การนำเข้าผลกีวีสดจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส ต้องเป็นไปตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลกีวีสดจากสาธารณรัฐฝรั่งเศส พ.ศ. 2563 ซึ่งพืชหรือผลไม้แต่ละประเภทมีข้อกำหนดที่มีรายละเอียดและข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันมีรายชื่อพืชหรือผลไม้สดที่ต้องห้ามและผ่านการวิเคราะห์ศัตรูพืชแล้วมากกว่า 50 ชนิด 

ทั้งนี้ การนำพืชหรือผลไม้สดเข้าประเทศไทยนั้น จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประชาชนที่มีการเดินทางระหว่างประเทศและประสงค์จะนำสินค้าประเภทพืชหรือผลไม้สดกลับเข้ามาในประเทศไทย นอกจากต้องศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายด้านศุลกากรแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายกักพืชด้วย เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดกฎหมายที่มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงต้องถูกยึดสินค้าเพื่อนำไปทำลายตามกฎหมายกักพืชด้วยเช่นกัน

ภาพปก