การประกันภัยปศุสัตว์

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปศุสัตว์เป็นภาคการผลิตทางการเกษตรที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคและภาคปศุสัตว์ยังมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการทำปศุสัตว์สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศทั้งประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่าจำนวน 152,924 ล้านบาทในปี 2565 อย่างไรก็ตาม การผลิตในภาคปศุสัตว์ที่ผ่านมายังคงเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการและส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะความเสี่ยงสำคัญในด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาดสัตว์ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายและสัตว์อาจสูญเสียชีวิตเป็นเหตุให้เกษตรกรขาดรายได้และอาจต้องกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนสำหรับการผลิตในครั้งถัดไป ส่งผลให้เกษตรกรเกิดภาระหนี้สินตามมา
    
รัฐจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาดสัตว์ที่เกิดขึ้น โดยในแต่ละปีรัฐได้จัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อชดเชยและเยียวยาความเสียหายให้กับเกษตรกร ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระทางด้านงบประมาณและสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ รัฐจึงได้เร่งพัฒนาระบบประกันภัยทางการเกษตรเพื่อให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคระบาดสัตว์ที่เกิดขึ้น

โดยการประกันภัยทางการเกษตรในด้านปศุสัตว์ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2523 ซึ่งเป็นการประกันภัยโคนมให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยมีกรมการประกันภัยเป็นผู้ประสานงานระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยและ อ.ส.ค. แต่การดำเนินโครงการต้องล้มเลิกไป เนื่องจากประสบปัญหาเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อตกลง ต่อมาเมื่อปี 2530 บริษัทประกันภัยบางบริษัทจึงได้เริ่มรับประกันภัยโคนมและระยะหลังมีจำนวนบริษัทประกันภัยเข้าร่วมรับประกันภัยโคนมเพิ่มขึ้น โดยรับประกันภัยทั้งโคนมที่ผลิตได้ในประเทศไทยและโคนมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่การดำเนินกิจการประกันภัยโคนมในขณะนั้นยังไม่กว้างขวางมากนัก และมีจำนวนโคนมที่รับประกันภัยค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนโคนมทั้งประเทศ 

นอกจากนั้น การประกันภัยปศุสัตว์ที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมสัตว์เศรษฐกิจอีกหลายชนิด และยังคงประสบปัญหาหลายประการ ทั้งด้านการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในส่วนของเกษตรกรยังขาดความรู้ในหลักการประกันภัย รายละเอียดข้อกำหนดในสัญญาและผลประโยชน์ที่พึงได้รับ ตลอดจนความเคยชินจากการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับความยากจนทำให้เกษตรกรไม่สามารถรับภาระเบี้ยประกันภัยได้ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่บังคับใช้กับการประกันภัยพืชผลและปศุสัตว์ ทำให้การดำเนินงานประกันภัยทางการเกษตรยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ 
    
อย่างไรก็ตาม รัฐได้ให้ความสำคัญกับนโยบายประกันภัยทางการเกษตรและส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบประกันภัยทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและสร้างระบบภูมิคุ้มกันทางการเงินรวมถึงความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยการขับเคลื่อนการประกันภัยทางการเกษตรในด้านปศุสัตว์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ร่วมกับบริษัทประกันภัยจัดทำโครงการประกันภัยโคนมขึ้นในปี 2561 และปีต่อมาได้ขยายการประกันภัยปศุสัตว์ในสัตว์เศรษฐกิจอื่นที่สำคัญ เช่น โคเนื้อ และสุกร โดยคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ภัยจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ดินถล่ม พายุ แผ่นดินไหว และการเจ็บป่วยที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น นอกจากนั้น สำหรับโคนมแม่พันธุ์ยังได้ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตจากการคลอดลูกด้วย

แม้ว่าการประกันภัยทางการเกษตรได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ยังคงประสบปัญหาหลายประการ ดังนั้น สภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจึงได้มีการพิจารณาศึกษาเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการประกันภัยทางการเกษตร โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น รัฐต้องอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยบางส่วนให้กับเกษตรกร สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้มีช่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย รวมถึงกำกับดูแลให้ธุรกิจประกันภัยมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ตลอดจนผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางการเกษตร เพื่อเป็นกลไกสำคัญทำให้ระบบประกันภัยทางการเกษตรมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

ภาพปก