ผู้นำ...สุจริต

ผู้เรียบเรียง :
พิธุวรรณ กิติคุณ, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

นับจากอดีตถึงปัจจุบันประเทศไทยผ่านหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ มีประสบการณ์ ตระหนักว่าผู้นำที่สุจริตมีความจำเป็น และมีความสำคัญมากเพียงใดต่อการบริหารและการพัฒนาชาติบ้านเมือง โดยความหมายตามรูปศัพท์ของคำว่า “สุจริต” หมายถึง ความประพฤติดี ความประพฤติชอบ การปฏิบัติแต่สิ่งที่ถูกต้อง ความสุจริตจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ผู้นำจำเป็นต้องมีเพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน 

ทั้งนี้ “สุจริต” ได้ปรากฏชัดในหลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมอันเป็นคุณสมบัติของผู้นำ โดย “สุจริต” เป็นหนึ่งในหลักอาชชวะที่เน้นความซื่อตรง ซึ่งหมายความถึงความซื่อสัตย์สุจริต การตั้งตนอยู่ในความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่ประพฤติทุจริต ไม่คดโกง เป็นการสุจริตต่อตนเอง ต่อบ้านเมือง ต่อประชาชน และต่อหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำ เพราะถ้าผู้นำไม่มีความซื่อตรง ไม่ซื่อสัตย์ มีพฤติกรรมที่ชอบคดโกงและทุจริต การบริหารกิจการบ้านเมืองจะเกิดความล้มเหลว ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญของบ้านเมือง ล้วนนำไปสู่ความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า 

นอกจากนี้ “สุจริต” ยังเป็นหนึ่งในหลักคุณธรรมและอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งหลักธรรมาภิบาลถือเป็นคุณธรรมสำหรับผู้นำที่ดี ผู้นำที่ดีจึงต้องยึดมั่นใน “สุจริต” เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีความถูกต้องดีงาม และนำไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ย่อมจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

เห็นได้ว่า “สุจริต” เพียงคำเดียว หมายความรวมถึงคุณธรรมและเป็นพื้นฐานสู่คุณธรรมอีกหลายประการด้วยเช่นกัน “สุจริต” จึงเป็นธรรมอันบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ ผู้นำที่สุจริตจึงไม่ได้มีความหมายเพียงเรื่องของการไม่คดโกงและการไม่ทุจริตในเรื่องของทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการที่ผู้นำมีความสุจริตในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งก็คือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง โดยสุจริตต่อตนเอง สุจริตต่อผู้อื่น สุจริตต่อหน้าที่ และสุจริตต่อองค์กร ดังนี้

1) สุจริตต่อตนเอง หมายถึง การรู้จักยับยั้งชั่งใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รู้จักควบคุมอารมณ์และจิตใจของตนเองให้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ควร อันประกอบด้วยคุณธรรม 3 ประการ คือ 

  1. 1.1) สัจจะ หมายถึง การคิด การพูด การทำแต่ความจริง 
  2. 1.2) ความเป็นธรรม หมายถึง มีใจเป็นกลาง 
  3. 1.3) ไม่มีอคติ หมายถึง ไม่มีความลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง 

2) สุจริตต่อผู้อื่น คือ การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความซื่อตรง จริงใจ 

3) สุจริตต่อหน้าที่ คือ การไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์ รักในสิ่งที่ทำ รู้จักเรียนรู้ รับผิดชอบ และพัฒนางานในหน้าที่ให้เจริญก้าวหน้าและงอกงามต่อไป 

4) สุจริตต่อองค์กร คือ การรักษาผลประโยชน์ ความลับ และทรัพย์สินต่าง ๆ ซึ่งหมายความรวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนจากความเป็นจริง และการปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ 

อนึ่ง ผู้นำที่สุจริตจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรอบข้างเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความสุจริต ซึ่งจะนำไปสู่สุจริตชนให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง อันจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สังคมและประเทศชาติเกิดความสุจริตในที่สุด

ภาพปก