ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID)

ผู้เรียบเรียง :
โชคสุข กรกิตติชัย, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

Digital ID หรือระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศได้คิดค้นและพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนในประเทศได้ใช้งาน ซึ่งระบบการทำงานของแต่ละประเทศนั้นก็มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศ และความต้องการของประชาชน แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้นระบุว่า Digital ID คือ “ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล” เพราะฉะนั้น Digital Identity หรือ Digital ID คือ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ถูกเชื่อมต่อกับระบบ เพื่อทำการยืนยันตัวตนและบันทึกข้อมูลจากทุกภาคส่วนผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อลดความผิดพลาดและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานช่องทางออนไลน์ เสริมความปลอดภัยทุกขั้นตอนในโลกดิจิทัล หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เป็น ID ในรูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ภาพใบหน้า อีเมล์ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้คนต่างใช้บริการบนโลกออนไลน์มากมายหลายช่องทาง ซึ่งปัญหาก็คือ ต้องคอยสร้าง ID ทุก ๆ บริการที่เข้าใช้งาน เพื่อให้การเข้าถึงบริการง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจทำให้ลืม ID ได้เช่นกัน ฉะนั้น Digital ID จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก เพราะจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกของผู้คนในการทำธุรกรรมออนไลน์ อีกทั้งยังสามารถใช้งานร่วมกับบริการอื่น ๆ ได้โดยใช้ ID เดิมที่มีอยู่แล้ว และยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการพิสูจน์ตัวตนให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในยุคของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ทางหน่วยงานของภาครัฐต่าง ๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการให้บริการผ่านระบบต่าง ๆ เพื่อลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวกสบายให้กับประชาชน โดยในส่วนของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานราชการที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในงานบริการประชาชน โดยได้มีการขับเคลื่อนโครงการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ของประเทศเพื่อรองรับการใช้งานบริการภาครัฐในการอำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชนในการติดต่อราชการ สามารถยืนยันตัวตน ทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีแอปพลิเคชันในการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่มีชื่อว่า “D.DOPA” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบในด้านการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลให้กับงานบริการของภาครัฐลงในโทรศัพท์มือถือซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนดรอยด์ (Android) อีกทั้งได้ออกพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาบังคับใช้ เพื่อให้บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านแบบดิจิทัลบนแอปพลิเคชันสามารถใช้ยืนยันตัวตนกับหน่วยงานราชการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

การใช้แอปพลิเคชัน D.DOPA นี้ มุ่งเน้นไปที่การมีข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านออนไลน์ เพื่อใช้ยืนยันตัวตนโดยที่ไม่ต้องพกพาเอกสารตัวจริงนั่นเอง เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการจากหน่วยงานของภาครัฐ เพราะบางคนอาจจะลืมพกพาบัตรประจำตัวประชาชนติดตัว หรือเก็บสมุดทะเบียนบ้านไว้ที่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ หรือบางคนก็มีปัญหาบัตรประจำตัวประชาชนตัวอักษรจาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐได้ ทั้งเว็บไซต์ของกรมการปกครอง (https://thportal.bora.dopa.go.th) สำหรับการใช้งานบริการทางทะเบียนราษฎร ทั้งการตรวจสอบข้อมูล การจองคิวล่วงหน้าในการทำบัตรประจำตัวประชาชน ไปจนถึงบริการทางทะเบียน ตั้งแต่การขอคัดรับรองรายการทะเบียน จนถึงการขอเลขที่บ้าน การย้ายที่อยู่เข้าทะเบียนบ้านแห่งใหม่ รวมถึงการดูประวัติการเข้ารับบริการจากหน่วยงานของรัฐ และดูประวัติการฉีดวัคซีนโควิด 19 จากศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้อีกด้วย 

จากโครงการนำร่องเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ได้เปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาลงทะเบียนใช้งาน ณ สำนักทะเบียนเท่านั้น และสามารถรองรับได้เพียง 100,000 ราย ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนมกราคม 2566 ระบบสามารถรองรับการใช้งานของประชาชนทั้งประเทศ 60 ล้านคน เพื่อเป็น Digital ID ของคนไทย อีกทั้ง Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนและมีความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็น QR Code ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมีโอกาสที่มิจฉาชีพสามารถเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือธุรกิจต่าง ๆ

การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกันแทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชนหรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้ รวมถึงสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อีกด้วย 
 

ภาพปก