ความสำคัญของการจดสิทธิบัตรต่อนวัตกรรมไทย

ผู้เรียบเรียง :
รติมา คชนันทน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-11
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ๆ ขึ้นมากมายในแทบทุกด้าน ส่งผลให้การดำรงชีวิตมนุษย์มีความสะดวกสบายตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ ChatGPT หรือแว่นเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยการผสมผสานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจหยุดชะงักไป นวัตกรรมยิ่งได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยปลดล็อกธุรกิจให้ยังคงเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา คือ การมีระบบสิทธิบัตร (Patent) ซึ่งจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรม 

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้ให้นิยาม สิทธิบัตรว่าเป็นสิทธิที่ให้กับสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการที่สร้างประโยชน์ใหม่ หรือนวัตกรรม โดยสิทธิบัตร จะให้การคุ้มครองแก่ผู้คิดค้นนวัตกรรมให้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะคุ้มครองเป็นเวลา 20 ปี เพื่อตอบแทนบุคคลที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดังกล่าวที่ต้องใช้ทั้งสติปัญญา เวลา และทุน สอดคล้องกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ให้ความหมายของสิทธิบัตรว่า สิทธิบัตรคือหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และอนุสิทธิบัตร ดังนั้น การมีระบบสิทธิบัตรที่ดีนอกจากจะสร้างแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมแล้ว ยังจะช่วยดึงดูดให้เกิดการถ่ายทอดนวัตกรรมและการลงทุนจากชาวต่างชาติ เนื่องจากระบบการคุ้มครองสิทธิบัตรจะทำให้บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่ถูกบริษัทอื่น ๆ ในประเทศลอกเลียนแบบ สอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าระบบสิทธิบัตรที่เข้มแข็งในประเทศกำลังพัฒนา สามารถช่วยดึงดูด การลงทุนโดยตรงของชาวต่างชาติได้ นอกจากนี้ ในการจดสิทธิบัตรยังมีข้อบังคับให้ผู้คิดค้นเปิดเผยรายละเอียดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน เพื่อก่อให้เกิดการเผยแพร่ความรู้ และนำไปสู่การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา ด้วยเหตุนี้ ความคุ้มครองตามกฎหมายของสิทธิบัตรเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมจึงเป็นที่ยอมรับจากกลุ่มคนจำนวนมาก แต่หากมองอีกมุมหนึ่งสิทธิบัตรอาจนำมาซึ่งการผูกขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาที่ผู้คิดค้นได้รับการคุ้มครองจากสิทธิบัตรนั้น ผู้คิดค้นจะมีสิทธิในผลิตภัณฑ์แต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการกำหนดราคา จึงอาจนำมาซึ่งการผูกขาดทางการค้า เกิดการจำกัด การแข่งขัน ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ซึ่งผลกระทบด้านราคาถือเป็นหนึ่งในข้อเสียของสิทธิบัตรที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2563-2565 แม้ว่าจะเป็นช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอรับความคุ้มครอง เฉลี่ยมากกว่าปีละ 60,000 คำขอ ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 เล็กน้อย ยกเว้นคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยา เวชภัณฑ์ และสินค้าป้องกันโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย    ในระยะยาว ทั้งนี้ ผลจากการยื่นจดทะเบียนจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าคนไทยตระหนักถึงความสำคัญของ การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยในปี 2565 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก (อันดับ 3 ในอาเซียน) จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2565 (Global Innovation Index 2022: GII 2022) โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ และก้าวสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมในอนาคต

ภาพปก