ปัญหาขยะมูลฝอยกลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับชุมชนทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือนชุมชน สังคม และระดับประเทศ โดยขยะชุมชนที่ตกค้างสะสมและถูกกําจัดอย่างไม่ถูกหลักวิชาการทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ดังนั้น การสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีความตระหนักในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยร่วมกัน และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในชุมชนก่อนเป็นอันดับแรก โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ณ ชุมชนบ้านหนองไม้เฝ้า ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพแก่สังคม สร้างความเข้าใจ และเปลี่ยนมุมมองขยะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ ชุมชนบ้านหนองไม้เฝ้าได้ดำเนินการตามคำแนะนำของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ดังนี้
1. ค้นหาแกนนำคณะทำงาน “การจัดการขยะ” เป็นการจัดตั้งคณะทำงานการจัดการขยะประกอบด้วยผู้นำชุมชนและตัวแทนของคนในชุมชนเพื่อมีบทบาทหน้าที่สร้างระบบการจัดการขยะให้เกิดขึ้นในชุมชน การสร้างความรู้และมาตรการหรือข้อตกลงร่วมกันของสมาชิก โดยผู้นำชุมชนได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ รวมถึงการปรับทัศนคติจาก “มองขยะเป็นสิ่งไร้ค่า” เป็น “ขยะคือเงินทองที่มีมูลค่า” รวมถึงการสร้างคณะทำงานที่มีศักยภาพพร้อมปฏิบัติงาน การจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ การแบ่งหน้าที่ วางแผนดำเนินงาน สรุปผลความก้าวหน้า เสนอปัญหาที่พบและแก้ไขร่วมกัน รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการทำงานที่ต่อเนื่อง
2. การสร้างความตระหนักและความเข้าใจในการจัดการขยะให้กับชุมชน เป็นการให้ความรู้สร้างความเข้าใจถึงสภาพปัญหาการจัดการขยะเพื่อให้ชุมชนสามารถคัดแยกขยะได้ตั้งแต่ในครัวเรือน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ให้การอบรมวิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้องและยั่งยืน รวมทั้งการไปศึกษาดูงานต้นแบบชุมชนบ้านรางพลับ ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่มีการเรียนรู้ประกอบด้วย 1) ปุ๋ยอินทรีย์แบบกลับกอง 2) การจักสาน 3) น้ำหมักชีวภาพ 4) ขยะเป็นศูนย์และเพิ่มมูลค่า 5) การคัดแยกขยะแบบครบวงจร และ 6) ไส้เดือนพอเพียง ซึ่งถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการปรับทัศนคติและสร้างพฤติกรรมให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของชุมชน
3. วางแผน “การจัดการขยะมูลฝอย” โดยจัดให้มีระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง เปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้แสดงความคิดเห็นในการออกแบบและวางระบบการจัดการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ โดยทำการวางแผนและกำหนดกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน มีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อคัดแยกขยะและนำไปจัดการอย่างเหมาะสม ผลสำเร็จ คือ ชุมชนได้ทั้งขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ใหม่ และขยะที่สามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
4. ปฏิบัติการจัดการขยะในครัวเรือนและชุมชน ดำเนินการกระตุ้นให้มีการจัดการขยะแบบครบวงจร รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากขยะ โดยกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะทั้งขยะรีไซเคิล ขยะเปียกจากเศษอาหาร ขยะจากการทำการเกษตร และขยะอันตราย นอกจากนี้ สนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จากขยะโดยทำน้ำหมัก การนำเศษอาหารมาเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรและยังสามารถผลิตสินค้าแปรรูปจากวัสดุเหลือใช้ เป็นการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
5. การติดตามผลและสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ เป็นการติดตามผลและสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะในชุมชนเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งชุมชนมีวิธีติดตามผลโดยสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่มีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชนที่ได้รับหน้าที่ “นักเรียนคุมซอย” คอยหมั่นตรวจตราความสะอาดและการคัดแยกขยะภายในซอย ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ธงสีชมพูที่แสดงถึง “บ้านปลอดขยะ” เมื่อคนส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการก็เป็นการกระตุ้นให้คนส่วนที่เหลือให้หันมาเข้าร่วม จนพร้อมใจกันติดธงชมพูกันทั้งชุมชน
6. สรุปผลและหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เมื่อดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ชุมชนควรมีการสรุปผล และหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการขยะที่เหมาะสม โดยดำเนินการประชุมสรุปผลเพื่อหาแนวทางปรับปรุงพัฒนาการจัดการขยะให้เหมาะสม อีกทั้งได้ต่อยอดจากการแก้ไขปัญหาขยะที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสังคม โดยนำรายได้จากการจัดการคัดแยกขยะรีไซเคิลไปตั้งกองทุนช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนในชุมชน
ทั้งนี้ การสร้างระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางอันมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาการจัดการขยะของชุมชน เพื่อเปลี่ยนมุมมอง “ขยะ” ให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทำให้มีขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุดและนำขยะเหล่านั้นกลับไปหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบใหม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องได้รับความร่วมแรงร่วมใจที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชน และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นเพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการจัดการขยะที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th