สุราสามทับ

ผู้เรียบเรียง :
ปิยะวรรณ ปานโต, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2566-09
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ให้คำนิยามลักษณะสินค้า “สุรา” หมายความรวมถึง วัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุราหรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา 

การกำหนดชนิดสุราตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 46 (พ.ศ. 2513) แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ได้แก่ 1) สุราสามทับ คือ สุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป 2) สุราขาว คือ สุรากลั่นที่ปราศจากเครื่องย้อมหรือสิ่งผสมปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี 3) สุราผสม คือ สุรากลั่นที่ใช้สุราขาวหรือสุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี 4) สุราปรุงพิเศษ เป็นสุรากลั่นที่ใช้สุราสามทับมาปรุงแต่ง มีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 80 ดีกรี และ 5) สุราพิเศษ เป็นสุรากลั่นที่ทำขึ้นโดยใช้กรรมวิธีพิเศษ 

สำหรับชนิดสุราข้อที่ 1 ได้นิยามตามกฎหมายของกรมสรรพสามิตระบุว่า สุราสามทับ หมายถึง สุรากลั่นประเภทหนึ่งที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป โดยสุราสามทับมีพื้นฐานมาจากการกลั่นสุรา 3 รอบ จนได้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่มีดีกรีสูง จึงเป็นที่มาของชื่อ “สุราสามทับ” 

ส่วนการแยกประเภทของสุราแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) สุราแช่ คือ (1) สุราที่ไม่ได้กลั่น เช่น น้ำตาลเมา น้ำขาว อุ เบียร์ เป็นต้น และ (2) สุราแช่ที่ได้ผสมกับสุรากลั่น แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี เช่น เบียร์  ไวน์ สปาร์กลิ้งไวน์ และสุราแช่พื้นเมือง เป็นต้น และ 2) สุรากลั่น คือ (1) สุราที่ได้กลั่นแล้ว เช่น สุราขาว สุราสามทับ (แอลกอฮอล์) สุราแม่โขง สุราแสงโสม เป็นต้น และ (2) สุรากลั่นที่ได้ผสมกับสุราแช่แล้ว แต่ยังมีแรงแอลกอฮอล์เกิน 15 ดีกรี เช่น สุราสามทับ สุราขาว สุราผสม สุราปรุงพิเศษ และสุราพิเศษ เป็นต้น 

ตามที่กฎหมายต้องกำหนดให้แยกประเภทสุราแช่และสุรากลั่นให้ชัดเจนเพราะจะมีผลกับจำนวนภาษีที่ผู้ผลิตสุราต้องเสีย รวมถึงการกำหนดโทษกรณีมีการกระทำความผิดบางฐานความผิด ส่วนการจะพิจารณาดีกรีสุราประกอบ คือ กรณีที่มีการนำสุราแช่และสุรากลั่นมาผสมกัน ถ้าสุราที่ผสมแล้วมีแรงแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 15 ดีกรีให้ถือว่าเป็นสุราแช่ แต่ถ้ามีแรงแอลกอฮอล์เกิน 15 ดีกรีให้ถือว่าเป็นสุรากลั่น และด้วยเหตุที่ต้องกำหนดความเข้มข้นดีกรีของแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาการเก็บภาษีว่าจะใช้อัตราการเก็บภาษีสุราแช่หรือภาษีสุรากลั่น (ซึ่งคำว่ามีแอลกอฮอล์นั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะแสดงว่าเป็นสุราหรือไม่) ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตสุราสามทับจะใช้ระบบหอกลั่นเพื่อให้ได้แอลกอฮอล์ 95 ดีกรี (แบ่งตามความเข้มข้นของดีกรี) หรือแอลกอฮอล์บริสุทธิ์มีแรงแอลกอฮอล์มากกว่า 95 ดีกรี  มีชื่อว่า เอทิลแอลกอฮอล์เกรดอาหารและยา (Food Grade and Pharmaceutical Grade) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่

  1. 1. ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางยาหรือส่วนผสมของยาในอุตสาหกรรมการแพทย์ เภสัชกรรม และเวชภัณฑ์
  2. 2. ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นสารสกัดหรือวัตถุแต่งกลิ่นรสในอุตสาหกรรมอาหารและสมุนไพร
  3. 3. ใช้เป็นตัวทำละลาย สารสกัด หรือสารผสมในอุตสาหกรรมทั่วไป
  4. 4. ใช้เป็นสารทำความสะอาดและสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อในอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) สุราสามทับจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยกรมสรรพสามิตได้มีการรับรองการใช้สุราสามทับ (แอลกอฮอล์) แปลงสภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 กำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการนำสุราสามทับ (แอลกอฮอล์) ไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ และมีนโยบายการให้สิทธิทางภาษีสุราสามทับ (แอลกอฮอล์) เพื่อเป็นการลดต้นทุนทางภาษี จึงได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราภาษีศูนย์สำหรับสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ “ที่มิได้ทำขึ้นเพื่อการจำหน่าย” โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ประสงค์จะใช้สุราสามทับ (แอลกอฮอล์) ในข้อ 10 ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือถ้าไม่เป็นหน่วยงานของรัฐต้องได้รับการรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย และสาธารณสุขจังหวัดหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย ในกรณีที่สถานที่ที่ใช้สุราสามทับตั้งอยู่ในต่างจังหวัด และกรณีที่สถานที่ที่ใช้สุราสามทับตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ต้องได้รับการรับรองจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายและผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายในกรณีนั้น
ปัจจุบันรัฐบาลมีรายได้จากสุราสามทับมี 2 ทาง คือ 

  1. 1. รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสุราสามทับอัตราลิตรละ 6 บาท (ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสุรากลั่นและสุราแช่ชนิดอื่น ๆ ที่เริ่มต้นที่ลิตรละ 150–1,500 บาท) 
  2. 2. รายได้ขององค์การสุรา กรมสรรพสามิต ที่จัดส่งให้รัฐบาลในสัดส่วนร้อยละ 80–85 ของกำไรสุทธิ โดยโรงงานสุราขององค์การสุรา กรมสรรพสามิต เป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงการคลัง ดำเนินกิจการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทิลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและยา ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรายเดียวของประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ภายในประเทศ  ภายใต้การควบคุมจากกรมสรรพสามิต ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนผู้ผลิตระดับย่อยยังไม่มีสิทธิผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตได้ออกมาตรการควบคุมแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำไปผลิตเหล้าเถื่อน หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยมีกลไกในการควบคุมการผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ข้อ 15 โดยผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นเพื่อการค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน อาทิ กรณีสุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่ผลิตเพื่อขายในราชอาณาจักร ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น

ภาพปก