การนำเข้าส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรของต้องกำกัด

ผู้เรียบเรียง :
สุภัทร คำมุงคุณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-02
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

แต่เดิมบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดความหมายคำว่า “ของต้องกำกัด” ไว้เป็นการเฉพาะ แม้ว่ากฎหมายว่าด้วยศุลกากรได้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติและประกาศใช้บังคับมาแล้วกว่า 22 ฉบับ แต่มีการกล่าวถึงคำว่า “ของต้องกำกัด” ในบทบัญญัติของพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับแรก เช่น มาตรา 27 ของพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ได้กล่าวถึงสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดโทษของการนำเข้าส่งออกของต้องกำกัดไว้ จนกระทั่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “ของต้องกำกัด” ไว้เป็นการเฉพาะ โดย ““ของต้องกำกัด” หมายความว่า ของที่มีกฎหมายกำหนดว่า หากจะมีการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร จะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” ซึ่งผู้ที่นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรของต้องกำกัดจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามกฎหมายอื่น ๆ ที่ควบคุมดูแลสินค้านั้นได้กำหนดไว้ ผู้ใดนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรของต้องกำกัดโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนดไว้ให้ครบถ้วน จะมีความผิดตามกฎหมายที่ควบคุมดูแลสินค้านั้น และเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรด้วย

ตัวอย่างประเภทของต้องกำกัด เช่น 

  1. 1) พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ 
  2. 2) อาวุธสงคราม ปืน กระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน 
  3. 3) พืชและส่วนต่าง ๆ ของพืช 
  4. 4) สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ 
  5. 5) อาหาร ยา เครื่องสำอาง และอาหารเสริม 
  6. 6) ชิ้นส่วนยานพาหนะ 
  7. 7) บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  8. 8) เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น 

โดยมีหน่วยของรัฐทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรสินค้าดังกล่าว ภายใต้การออกใบอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามกฎหมายควบคุมดูแลสินค้าแต่ละประเภทได้กำหนดไว้ เช่น การนำเข้าส่งออกพืชและส่วนต่าง ๆ ของพืช ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 หรือกรณีการนำเข้าส่งออกสัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หรือจากกรมประมงตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 หรือกรณีการนำเข้าส่งออกอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 เป็นต้น

ทั้งนี้ การควบคุมดูแลสินค้าเพื่อการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรมีเหตุผลหลายประการซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับ 

  1. 1) ความมั่นคงแห่งรัฐหากนำเข้าโดยเสรีอาจก่อให้เกิดความไม่สงบได้ 
  2. 2) การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน 
  3. 3) การสาธารณสุขหรือเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การควบคุมอาหาร ยา เคมีภัณฑ์บางชนิดที่มีอันตรายต่อสุขภาพ 
  4. 4) การคุ้มครองการผลิตภายในประเทศ เช่น สินค้าเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงการผลิตภายในประเทศที่จะได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากการนำเข้ามาจากต่างประเทศ 
  5. 5) การสงวนไว้ภายในประเทศเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน หรือเพื่อรักษาสมบัติของส่วนรวมเนื่องจากมีคุณค่าทางศิลปะหรือโบราณคดี 
  6. 6) การป้องกันโรคพืชและสัตว์หรือสิ่งที่ได้จากพืชและสัตว์อาจเป็นพาหะของโรค 
  7. 7) การป้องกันพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่ไม่พึงปรารถนาซึ่งอาจทำให้ก่อความเสียหายโดยตรงจากการแพร่ระบาดของพืชและสัตว์นั้นหรือโดยทางอ้อมจากการผสมพันธุ์กับพืชและสัตว์ภายในประเทศ 
  8. 8) การจัดระเบียบการค้า โดยการนำเข้า ส่งออกอย่างไม่มีขอบเขตอาจทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจส่วนรวมได้ 
  9. 9) เศรษฐกิจการเงิน เช่น การแก้ไขการขาดดุลการค้า 
  10. 10) การปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ 
  11. 11) การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และ 
  12. 12) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์เครื่องมือทางการค้า เป็นต้น

การนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมดูแลสินค้านั้นแล้ว ยังมีความผิดตามกฎหมายศุลกากรฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามตามมาตรา 244 ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ และความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 246 ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรด้วยหรือทั้งจำทั้งปรับ

แม้ว่าการควบคุมการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักรของต้องกำกัด จะเป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า แต่รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมดูแล เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ  ดังนั้น การประกอบการค้าระหว่างประเทศ จึงควรศึกษากฎหมายศุลกากรและตรวจสอบกฎหมายที่ควบคุมดูแลสินค้านั้นด้วย ก่อนที่จะนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการกระทำความผิดตามกฎหมาย

ภาพปก