กฎหมายนิรโทษกรรม

ผู้เรียบเรียง :
ชีวานนท์ กันย์ภิวัฒน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ปัจจุบันได้มีการเสนอ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ...” ให้สภาผู้แทนราษฏรพิจารณาออกเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายนิรโทษกรรมมิได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา

จากการค้นคว้าฐานข้อมูลออนไลน์ของราชกิจจานุเบกษาพบว่า มีกฎหมายนิรโทษกรรมที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำนวนทั้งสิ้น 23 ฉบับ โดยออกเป็นพระราชกำหนด จำนวน 4 ฉบับ และออกเป็นพระราชบัญญัติ จำนวน 19 ฉบับ กฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 23 ฉบับ มีสาระสำคัญร่วมกัน คือ  “การกำหนดให้บุคคลใด ๆ ที่กระทำผิดกฎหมาย หรือละเมิดกฎหมาย ตามที่กฎหมายนิรโทษกรรมแต่ละฉบับกำหนดรายละเอียดไว้ พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิด” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ การรัฐประหาร หรือความพยายามในการก่อการรัฐประหาร ก่อการกบฏก่อการจลาจล เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือเพื่อยึดอำนาจการปกครอง เช่น “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475” เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร การกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และการกระทำที่เป็นการต่อต้านการทำสงครามของญี่ปุ่นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ยกตัวอย่างเช่น “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532” 

สำหรับการนิรโทษกรรมให้แก่การชุมนุม การเดินขบวนทางการเมือง มีการออกกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่

“พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2516”

“พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521” และ

“พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535”

อย่างไรก็ตาม ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ จึงทำให้พระราชกำหนดตกไป

ทั้งนี้ มีกฎหมายนิรโทษกรรมเพียง 2 ฉบับ ที่ได้กำหนดกลไกของคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม แต่ก็มีการกำหนดขอบเขตของการกระทำที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พุทธศักราช 2489” ที่กำหนดให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลอาญา อธิบดีกรมอัยการ และเจ้ากรมพระธรรมนูญ และกำหนดให้ “บรรดาการกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น หรือการดำเนินงานเพื่อการนั้นให้ผู้กระทำเป็นอันพ้นจากความผิดทั้งสิ้น”

ขณะที่ “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499” กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หนึ่งนาย อัยการแห่งท้องที่หนึ่งนายเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้ หากการตั้งกรรมการบางนายข้างต้นจะไม่สะดวกในการปฏิบัติ สำหรับบุคคลที่ถูกพิพากษาลงโทษโดยศาลทหาร หรือถูกฟ้องในศาลทหารก็ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรในการดำเนินการเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดให้ “บรรดาการกระทำของบุคคลใด ๆ ก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม การกบฏ การก่อการจลาจล หรือการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าว หรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว หากเป็นความผิดตามกฎหมายใด ๆ ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด”

สำหรับ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ...” ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีสาระสำคัญบางส่วน คือ กำหนดให้บรรดาการกระทำใด ๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวน และชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมายในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง เท่าที่ไม่ขัดกับพันธะกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรมไว้ด้วย 

ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นการออกฎหมายมาบังคับใช้กับเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งและเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ๆ ที่ได้กระทำความผิดเพื่อให้พ้นจากการกระทำผิดนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ได้มีการนำมาใช้ลดความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในสังคมไทย

ภาพปก