การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลและระบบนิเวศฮาลาล (Halal Ecosystem) ของไทย

ผู้เรียบเรียง :
ชีวานนท์ กันย์ภิวัฒน์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-01
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ศาสนาอิสลามได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินชีวิตของศาสนิกชนไว้อย่างละเอียดเปรียบเหมือนกับเป็น “ธรรมนูญชีวิต” ดังนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือที่เรียกว่า “คนมุสลิม” จึงมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้การ “อนุมัติ” หรือ “อนุญาต” หรือเรียกว่า “ฮาลาล” ตามหลักคำสอนทางศาสนา อาทิ การรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรคที่มีวัตถุดิบและกระบวนการปรุง การผลิตที่ฮาลาล การเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ฮาลาล (สถานพยาบาลมีอาหาร ยาฮาลาลบริการ) การท่องเที่ยวที่ฮาลาล (ที่พัก ร้านค้ามีอาหารฮาลาลจำหน่าย) อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักเข้าใจว่า “ฮาลาล” เป็นเพียงเรื่องของอาหารที่คนมุสลิมรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิดว่า “คนมุสลิมไม่กินหมู ไม่ดื่มแอลกอฮอล์” เท่านั้น 

“ฮาลาล” เป็นคำมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า อนุมัติ อนุญาต หมายความว่า สิ่งของ หรือการกระทำใด ๆ การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ครอบคลุมทั้งสินค้าและบริการที่เป็นอาหารและมิใช่อาหาร ครอบคลุมไปถึงส่วนประกอบ ส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตอาหาร สารเคมีต่าง ๆ เครื่องสำอาง ตลอดจนโรงงาน รวมทั้งสถานบริการต่าง ๆ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล กิจการท่องเที่ยว สายการบิน เป็นต้น ในส่วนของสินค้าอาหารฮาลาล มีข้อกำหนดหลักคือ ต้องเป็นสินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อหมูตลอดจนสารต้องห้ามเจือปน และเป็นเนื้อสัตว์ที่ได้รับการฆ่าอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม สําหรับเครื่องดื่มต้องไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

ข้อมูลสถิติประชากรโลกของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม 1.9 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.54 ของประชากรโลก แสดงให้เห็นว่าตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิม ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ อีกทั้งผู้บริโภคชาวมุสลิมมีแนวโน้มการใช้จ่ายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีขนาดถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2566 ไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลมากกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นร้อยละ 82.1

ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อน Soft Power ใน 12 สาขา โดยเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเพื่อต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในสาขา Soft Power ที่สำคัญ คือ อาหาร โดยเฉพาะอาหารฮาลาลที่สามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวฮาลาลได้ อาทิ มัสมั่นเนื้อ ข้าวซอยไก่ ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงเหลือง ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่าและอัตราการเติบโตสูงตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมมีการขยายตัวจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งรัดการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและสินค้าฮาลาลอื่น ๆ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การส่งออกสินค้าฮาลาล และการท่องเที่ยวฮาลาลในภูมิภาค

ในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศฮาลาล (Halal Ecosystem) 5 ด้าน ได้แก่ 

  1. (1) ด้านการผลิต ที่ครอบคลุมหลายสาขา เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ 
  2. (2) ด้านการบริการ เช่น ระบบโลจิสติกส์ฮาลาล บริการสาธารณสุขอิสลาม การเงินและประกันภัยอิสลาม การท่องเที่ยวและสุขภาวะที่ดีแบบอิสลาม 
  3. (3) ด้านการพัฒนาบุคลากร ทั้งการพัฒนา ทักษะแรงงาน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตรวจสอบฮาลาล รวมถึงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลในสถาบันการศึกษา 
  4. (4) ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ ประกอบด้วย การวางมาตรฐาน การให้การรับรอง และระบบตรวจสอบย้อนกลับ และ 
  5. (5) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมและคลัสเตอร์ฮาลาล ห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนาฮาลาล 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลและระบบนิเวศฮาลาลของไทยต้องมีการวางระบบการขับเคลื่อนในแต่ละด้านให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งมุ่งเน้นการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งองคาพยพ ซึ่งประกอบด้วยสองแนวทาง คือ

  1. (1) แนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) มีหน้าที่และอำนาจสำคัญในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งระบบ และ
  2. (2) แนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล

เพื่อรองรับภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การเจรจาหรือการขยายตลาด การตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน การผลิตสินค้าและบริการ และการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมปศุสัตว์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยด้านฮาลาล และการตั้ง “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล” ขึ้นภายใต้สถาบันอาหารเพื่อเป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการประสานงาน 

โดยสรุป ในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศฮาลาล 5 ด้าน ดังที่กล่าวข้างต้น ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น เครื่องสำอาง สมุนไพร ยา อาหารเสริม รวมทั้งการบริการ เช่น นวด สปา คลินิก การแพทย์ การท่องเที่ยว เป็นต้น

ภาพปก