การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ผู้เรียบเรียง :
นรากร นันทไตรภพ, วิทยากรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 ประเทศไทยมีการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยกําหนดหลักเกณฑ์การนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ และหลักเกณฑ์การทํางานของคนต่างด้าวตามพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 โดยกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น หลักเกณฑ์การทำงานของคนต่างด้าว การประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน เป็นต้น รวมทั้งมีบทกำหนดโทษในกรณีการฝ่าฝืนการประกอบธุรกิจการนําคนต่างด้าวมาทํางานกับนายจ้างในประเทศ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งภายหลังการบังคับใช้พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้เกิดประเด็นปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศที่ตื่นตระหนกจากการกำหนดโทษที่รุนแรง เป็นต้น

 ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยปรับปรุงการใช้ระบบอนุญาตและปรับลดอัตราโทษในฐานความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวลง รวมถึงกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น รวมทั้งมีบทกําหนดโทษในกรณีผู้รับอนุญาตให้นําคนต่างด้าวมาทํางานผู้ใดนําคนต่างด้าวไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างที่รับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง หรือนําคนต่างด้าวไปทํางานโดยตนเป็นผู้รับเหมาแรงงาน หรือรับเหมาค่าแรง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ ตลอดจนกรณีนายจ้างผู้ใดนําคนต่างด้าวจากต่างประเทศมาทํางานกับตนในประเทศโดยตนเป็นผู้รับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท อย่างไรก็ตาม ภายหลังการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 กลับพบปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวของผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน หรือรับเหมาค่าแรงที่ไม่สามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนด้านแรงงานของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพิจารณาถึงผลกระทบดังกล่าวข้างต้นของการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวของผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน หรือรับเหมาค่าแรงที่ไม่สามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้ ปัญหาความซ้ำซ้อนในการแจ้งออกจากงานของนายจ้าง เมื่อคนต่างด้าวออกจากงาน (มาตรา 13 และมาตรา 46 วรรคสาม) ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และบทกำหนดโทษมาตรา 103 และมาตรา 113/1 โดยปรับปรุงให้เหลือเพียงหน้าที่การแจ้งออกจากงาน ตามมาตรา 13 แห่งพระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงาน
ของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง รวมถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำและความมั่นคงในอาชีพให้แก่แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญกล่าวโดยสรุป คือ 

  1. ยกเลิกหลักเกณฑ์ในการห้ามไม่ให้ผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน หรือรับเหมาค่าแรงสามารถนำคนต่างด้าวจากประเทศที่รัฐบาลไทยได้ทำบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจไว้เข้ามาทำงานในประเทศได้
  2. ยกเลิกบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานของผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงาน หรือรับเหมาค่าแรง 
  3. ยกเลิกหน้าที่การแจ้งเมื่อคนต่างด้าวออกจากงานของนายจ้างที่นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับต่างประเทศ 
  4. ยกเลิกบทกำหนดโทษในกรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่แจ้งคนต่างด้าวออกจากงานของนายจ้างที่นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับต่างประเทศ

 ดังนั้น จากสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 พ.ศ. .... ที่กระทรวงแรงงานเสนอจึงมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและเป็นแนวทางในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภาพปก