การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

ผู้เรียบเรียง :
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-06
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 ทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ซึ่งถูกใช้เพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งเพื่อการบริโภคและอุปโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อปรับสมดุลของระบบนิเวศ ที่ผ่านมาภาพรวมความต้องการใช้น้ำในประเทศ มีจำนวน 151,750 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ศักยภาพของการเข้าถึงแหล่งน้ำของภาคส่วนต่าง ๆ มีเพียง 102,140 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการขยายตัวของเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขาดการคำนึงถึงศักยภาพของลุ่มน้ำ และการใช้น้ำเพื่อการผลิตและอุปโภคอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะน้ำแล้งหรือน้ำท่วมยังขาดกลไกในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเสียหายจำนวนมากต่อภาคการผลิตและประชาชน รวมถึงระบบนิเวศอย่างกว้างขวาง

 จากสถานการณ์และเงื่อนไขการใช้น้ำดังกล่าว ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมทั้งการพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ดังนั้น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จึงมุ่งเน้นการกำหนดเป้าหมายและแนวทางพัฒนาระบบจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคง เพิ่มผลิตผล ในเรื่องการจัดการและการใช้น้ำทุกภาคส่วน โดยมีแนวทางพัฒนาประกอบด้วยแผนย่อย 3 แผน ดังนี้

 1. การพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลในด้านการจัดหา การใช้ และการอนุรักษ์น้ำ โดยมีแนวทางการดำเนินการเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การจัดการในภาวะวิกฤติ และการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องยกระดับระบบการจัดการให้ทันสมัย มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และทุนทางสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีแนวทางพัฒนา 4 ด้าน คือ

  1. จัดการน้ำเพื่อชุมชนชนบท โดยจัดให้มีน้ำสะอาดใช้ทุกครัวเรือนในชุมชนชนบท ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และราคาที่เข้าถึงได้ มีระบบการจัดการน้ำชุมชนที่เหมาะสมกับการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 
  2. จัดการน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมฟื้นฟู อนุรักษ์ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่พักน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ (รวมลำน้ำ) แอ่งน้ำบาดาล การระบายน้ำจากเมืองชายฝั่ง ให้มีปริมาณและคุณภาพน้ำและใช้ประโยชน์ได้ตามเกณฑ์ของแต่ละลุ่มน้ำ จัดทำแผนและดำเนินการป้องกัน ฟื้นฟู รักษา ร่วมกับแผนรักษาเขตต้นน้ำ และการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่ที่กำหนด และข้อตกลงที่มีของแต่ละลุ่มน้ำ
  3. จัดระบบการจัดการน้ำในภาวะวิกฤติรวมถึงระบบการจัดการพิบัติภัยจากน้ำ คือ น้ำท่วม ลมพายุ ภัยแล้ง แผ่นดินถล่ม พายุคลื่น (Storm Surge) และน้ำท่วมพื้นที่ติดทะเล (Coastal Floods) ให้สามารถลดความสูญเสียและความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำตามหลักวิชาการให้อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาอันสั้น 
  4. จัดการบริหารน้ำเชิงลุ่มน้ำอย่างมีธรรมาภิบาล กล่าวคือ จัดการให้มีการจัดหาและใช้น้ำที่สมดุล ทันสมัย  และสร้างความเป็นธรรม ใช้มาตรการทั้งทางโครงสร้าง กฎระเบียบ การวางองค์กรการจัดการ การจัดหาและใช้น้ำที่ได้สมดุล มีระบบและกลไกการจัดสรรน้ำ การกำหนดโควตาน้ำที่จำเป็นและเป็นธรรม เพื่อการยกระดับผลิตภาพการใช้น้ำให้เทียบเท่าระดับสากล สร้างวินัยของประชาชนในการใช้น้ำและการอนุรักษ์อย่างรู้คุณค่า พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สารสนเทศกับนานาชาติ ดำเนินการร่วมใช้น้ำกับแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยพิจารณาและดำเนินการโครงการบูรณาการและเชื่อมโยงกับประเด็นความมั่นคงอื่นรวมถึงการศึกษา วิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

2. การเพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบ ในการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระดับสากล ต้องพิจารณาผลิตภาพของการใช้น้ำให้เหมาะสมกับทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดของแต่ละพื้นที่ โดยจะต้องรองรับต่อความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมของเมืองในอนาคต โดยการจัดหาและใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า การลดความสูญเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำ ให้ทัดเทียมกับระดับสากลเพื่อตอบสนองการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม บริการและพลังงาน มีแนวทางการพัฒนา 3 ด้าน คือ

  1. จัดให้มีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเขตเมืองเพื่อการอยู่อาศัย การพาณิชย์และบริการ พร้อมระบบจัดการน้ำในเขตเมือง มีระบบแผนผังน้ำ ระบบกระจายน้ำดี ระบบรวบรวมน้ำเสีย ระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ รวมถึงน้ำสำหรับผู้มีรายได้ต่ำในชุมชนเมืองให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  2. จัดให้มีน้ำอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมตามแผนการเติบโตแบบสีเขียว การท่องเที่ยว และเพื่อผลิตพลังงาน พร้อมทั้งมีระบบดูแลน้ำภายในพื้นที่สำหรับผู้ใช้น้ำในนิคมเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พื้นที่ชลประทาน พื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แหล่งท่องเที่ยว เกษตรพลังงาน เกษตรเพิ่มมูลค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  3. เพิ่มผลิตภาพของการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า การใช้น้ำซ้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งและการใช้น้ำทุกภาคส่วน ตลอดจนเพิ่มการเก็บกักน้ำในพื้นที่ให้เพียงพอ

3. การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจ พิสูจน์แนวเขตแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ และขึ้นทะเบียนแนวเขตแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ การทำแผนรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและอาคารที่รุกล้ำแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติในทุกมิติ เช่น ด้านการระบายน้ำ เก็บกักน้ำ การจัดการคุณภาพน้ำ การบำรุงรักษาระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ความสำคัญกับการบริหารเชิงพื้นที่ ตลอดจนมีการจัดทำข้อกำหนดในการออกแบบทั้งเชิงภูมิสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ 

 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเป็นการพัฒนาลุ่มน้ำเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ โดยดำเนินการตามกรอบแต่ละลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านการจัดหา การใช้ และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องสร้างความเชื่อมโยงและบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ภาพปก