มิติความยากจนของประเทศไทย

ผู้เรียบเรียง :
จันทมร สีหาบุญลี, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-03
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ความยากจนเป็นปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาในทุกมิติ เนื่องจากความยากจนมีพลวัตตามการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม จึงมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้นิยามความยากจนว่า เป็นความขัดสนทางเศรษฐกิจ รวมถึงขาดศักยภาพในการดำรงชีวิต ทั้งในเรื่องของการศึกษา ทรัพยากร ที่ดินทำกิน การรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมทางการเมือง การไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ในการประกอบอาชีพ รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือของภาครัฐ ตลอดจนการมีภาระพึ่งพิงสูง หน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกมิติอย่างบูรณาการ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566–2570) ในมิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีหมุดหมายเกี่ยวกับความยากจน คือ ประเทศไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม โดยการสนับสนุนครัวเรือนยากจนให้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ ตลอดจนสร้างความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุมประชาชนในทุกกลุ่ม

ปัญหาความยากจนได้ครอบคลุมถึงมิติอื่น ๆ ที่หลากหลายนอกจากด้านการเงินหรือรายได้แต่รวมถึงการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ขาดโอกาสด้านการศึกษาและการไม่มีงานทำ ซึ่งรูปแบบความยากจนที่มีความแตกต่างกันดังกล่าว รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนจำเป็นต้องมีเครื่องมือ เพื่อกำหนดตัวชี้วัดลักษณะความยากจนที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์สาเหตุปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของความยากจน

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า (Thai Poverty Map and Analytics Platform) เพื่อให้ครอบคลุมปัญหาความยากจนในมิติที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ สถานที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยพัฒนาระบบการชี้เป้าความยากจนขึ้นเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของภาครัฐที่สามารถระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยกำหนดนโยบายและโครงการในการแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาของความยากจนได้

ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) สามารถระบุคนจนเป้าหมายโดยใช้ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) มีหลักการว่า คนจน คือ ผู้มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพชีวิตที่ดีในมิติต่าง ๆ โดยพิจารณาจากมิติ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ซึ่งมิติแต่ละด้านมีข้อมูลจำนวนคนในครัวเรือนยากจนที่ตกเกณฑ์ตัวชี้วัดความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่นำมาใช้เป็นดัชนีในการคำนวณความยากจนหลายมิติ (MPI) ประกอบด้วย

1. มิติด้านสุขภาพ ตัวชี้วัด คือ เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที

2. มิติด้านการศึกษา ตัวชี้วัด คือ เด็กอายุ 3–5 ปี ได้รับบริการเลี้ยงดูและเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน เด็กอายุ 6–14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่าคนอายุ 15–59 ปี อ่านเขียนภาษาไทยและคิดเลขอย่างง่ายได้

3. มิติด้านรายได้ ตัวชี้วัด คือ คนอายุ 15–59 ปี มีอาชีพและรายได้ คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้ และครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่อปี

4. มิติด้านความเป็นอยู่ ตัวชี้วัด คือ ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวร ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน และมีการจัดการบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะ

5. มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ตัวชี้วัด คือ ผู้สูงอายุและผู้พิการได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐหรือภาคเอกชน

ตัวชี้วัดมิติความยากจนในแต่ละด้าน สามารถนำมาเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละปีเพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาความยากจนที่มีแนวโน้มลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินปัจจัยปัญหาของความยากจนได้ทุกระดับ หรืออาจนำไปประเมินประสิทธิภาพของนโยบายที่กำหนดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในแต่ละมิติได้ตรงจุดตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้นำระบบ TPMAP เปิดให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงาน

ที่ต้องการความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับภาพรวมของประเทศ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านได้ ผ่านทาง https://www.tpmap.in.th ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งครัวเรือนและบุคคล

ภาพปก