กำเนิด “ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ”

ผู้เรียบเรียง :
สุภาพิชญ์ ถิระวัฒน์, นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-05
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ในการปฏิรูปตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 นอกจากจะมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้มีประสิทธิภาพ การสร้างหลักประกันให้ข้าราชการตำรวจได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง โยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมแล้ว การปฏิรูปในครั้งนี้ยังได้กำหนดให้โอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น กองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นโดยตรงรับไปดำเนินการ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยมาตรา 163 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดให้ยุบ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” เมื่อครบ 1 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ใช้บังคับ ซึ่งมีผลทำให้ตำรวจรถไฟต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ลงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้มาตรา 164 ได้กำหนดให้หน้าที่และอำนาจของข้าราชการตำรวจในกองบังคับการตำรวจรถไฟในส่วนที่เกี่ยวกับการสืบสวนหรือสอบสวนเรื่องใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อนยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ ให้โอนไปเป็นของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจหรือในกองบังคับการตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด และให้ถือว่าการสืบสวนหรือสอบสวนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและที่จะดำเนินการต่อไป เป็นการดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

แต่เดิมกองบังคับการตำรวจรถไฟมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดูแลความปลอดภัยในเขตพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาตำรวจรถไฟได้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยดูแลความสงบเรียบร้อยและปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่การรถไฟ 230,000 ตารางกิโลเมตร ดูแลประชาชนมากกว่า 30 ล้านคนต่อปีที่เดินทางด้วยรถไฟผ่านสถานีรถไฟและชานชาลาทั้งสิ้น 450 แห่ง ตามความยาวรางรถไฟ 4,000 กิโลเมตร บนขบวนรถไฟโดยสารซึ่งไม่รวมขบวนรถไฟขนส่งสินค้า โดยรถไฟในแต่ละขบวนจะมีตำรวจประจำ 2 นายขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่จนถึงจุดหมายปลายทางเพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งจับกุมยาเสพติด สินค้าหนีภาษี ที่ลำเลียงผ่านทางรถไฟอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีกองบังคับการตำรวจรถไฟแล้ว แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตรถไฟร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางให้ตำรวจสอบสวนกลางมีขอบเขตความรับผิดชอบและดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟเดิม และจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยและตรวจตราความเรียบร้อยบนขบวนรถไฟและสถานีรถไฟอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ตำรวจรถไฟในเขตภูมิภาค ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ พร้อมทั้งร่วมมือกันวางแผนป้องกันและปราบปรามแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย สนับสนุนข้อมูลคนร้าย ผู้ต้องสงสัย และข้อมูลระบบกล้องวงจรปิด เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัย ป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขอาชญากรรมในเขตรถไฟทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางยังได้ตั้ง “ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย สืบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟทุกสายทั่วราชอาณาจักร ดูแลความปลอดภัยของประชาชนบนรถไฟ โดยเฉพาะขบวนที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม เช่น ขบวนรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพ-เชียงใหม่) สายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ-หนองคาย) และสายใต้ (กรุงเทพ-หาดใหญ่) พร้อมทั้งประสานความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารกับการรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์อาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนขบวนรถไฟ รวมทั้งติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานด้วย โดยเริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา

สำหรับการแจ้งเบาะแส หรือแจ้งเหตุเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดบนขบวนรถไฟนั้น ประชาชนซึ่งโดยสารรถไฟสามารถแจ้งเบาะแส หรือแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานบนขบวนรถไฟ หรือผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก (Facebook) “ศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ” กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้เช่นเดียวกัน

ภาพปก