ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ และเงินตรา
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่กำหนดให้มีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 45 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้ตราข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2476 กำหนดให้การเสนอร่างพระราชบัญญัติกระทำได้โดยรัฐบาลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีบทบัญญัติให้ขึ้นหรือลดหรือเลิกหรือตั้งภาษีอากรขึ้นใหม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้กำหนดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ตามมาตรา 53 กำหนดว่า ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้น จะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับรอง ต่อมาได้บัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เพื่อกำหนดความหมายหรือลักษณะของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน
โดยร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ได้แก่
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน กำหนดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจะต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะมีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้มีสิทธิดังกล่าวได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน และเป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้แก้ไขเพิ่มเติมทำให้มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องใช้ดุลยพินิจจากหลายฝ่ายร่วมกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีการประชุมร่วมกัน
ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจึงต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี เนื่องจากอำนาจในการรับรองร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ในฐานะฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการหารายได้ให้แก่ประเทศและบริหารจัดการงบประมาณของประเทศ และเพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ตรวจสอบถึงความจำเป็น ความเหมาะสม และความพร้อมด้านงบประมาณ โดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมาย นอกจากนี้ เมื่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วจะกระทบต่องบประมาณของแผ่นดิน หรือสร้างภาระผูกพันต่องบประมาณของแผ่นดิน ฝ่ายบริหารต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นหลักการที่สำคัญของร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินที่ต้องมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5714, 5715, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th