การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

Script Writer
นารีลักษณ์ ศิริวรรณ, วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
Broadcast Date
2023-11
Publication type
Publisher
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมารัฐได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่จากการที่ผู้รับทุนหรือนักวิจัยไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐ ทำให้ไม่มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการให้ทุนหน่วยงานของรัฐให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศส่วนรวม ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ จะได้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้  1) ภาคเอกชนที่ทำวิจัยสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ รวมถึงวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น 2) สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย นักวิจัย สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ลดขั้นตอนการเจรจากับภาคเอกชน ตลอดจนเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย 3) ประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริการและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีงบประมาณและกลไกที่สนับสนุนที่ชัดเจน 4) ประเทศชาติมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างรายได้ เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากนักวิจัยมีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ 

งานวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ที่นำมาไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในโครงการ โครงการวิจัย และรายงานการวิจัยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว นักวิจัยจะต้องนำไปใช้จนก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริง และสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือการรับรอง/การตรวจรับงานโดยหน่วยงานภายนอก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. การใช้ประโยชน์เชิงวิชาการ คือ การนำข้อมูลจากงานวิจัย องค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นไปใช้ในเชิงทางวิชาการ เน้นการพิสูจน์ ตรวจสอบประเด็น หรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว เพื่อให้เกิดความเข้าใจพื้นฐาน พัฒนา ส่งเสริมและเพิ่มพูนความรู้ในทางด้านวิชาการ
  2. การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ คือ การนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้เพื่อพัฒนา แก้ไข หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน และสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในสังคมได้อย่างแท้จริง ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนในเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนดีขึ้น ได้แก่ การใช้ประโยชน์ด้านสาธารณสุข ด้านการบริหารจัดการสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยภาคประชาชน ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
  3. การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย หรือระดับประเทศ คือ การนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ และนำไปดำเนินการให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ ผ่านโครงสร้างของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนา แก้ปัญหา ปรับปรุงและปฏิรูป ซึ่งจะเป็นการพัฒนาภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็ง
  4. การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ คือ งานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้หรือนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น การใช้งานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมากที่ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ด้วยสาเหตุจากการขาดความเชื่อมโยงการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐ เอกชนและสถาบันอุดมศึกษา การลงทุนวิจัยที่กระจัดกระจายเป็นโครงการย่อยของหลายหน่วยงาน การขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยที่สำคัญ การขาดแคลนบุคลากรระดับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์สูง ตลอดจนการขาดแคลนความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จึงเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น รวมถึงยังช่วยยกระดับของงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัยผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตและบริการ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัย หน่วยงานที่ต้องการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และหน่วยงานให้ทุนและจัดสรรงบประมาณวิจัย ต้องดำเนินการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้มีกระบวนการหรือกลไกในการส่งเสริม/หนุนเสริมและติดตามให้หน่วยงานที่รับทุนสามารถผลักดันให้งานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ภาพปก