จากสถานการณ์โรคโควิด 19 (Coronavirus disease 2019) ที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลก ประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการสร้างภูมิคุ้มกันและต้านโควิด โดยมีผลการศึกษาวิจัย สมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสให้ไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ลดการอักเสบ ทำให้เม็ดโลหิตขาวซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถสร้างภูมิขึ้นมาได้เพียงพอในการฆ่าเชื้อโรคได้
นโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐบาล เช่น ส่งเสริมให้โรงพยาบาลสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันและนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค สำหรับโอกาสทางการตลาดของสมุนไพรไทยในอนาคตจะสามารถสร้างรายได้และผลตอบแทนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรได้อย่างมีศักยภาพ
บทความวิจัยปริทัศน์ฉบับนี้ได้นำเสนอผลการวิจัยของสมุนไพร 4 ชนิด ที่มีการศึกษาวิจัยจำนวนมาก ทั้งจากนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศในการต้านทานและรักษาโรคโควิด 19 คือ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้นชัน และกัญชา สถานการณ์การใช้สมุนไพรไทย พืชสมุนไพรและเครื่องเทศที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีทั้งในรูปของวัตถุดิบแห้งและบด สารสกัดหยาบ และผลิตภัณฑ์โดยชนิดของสมุนไพรที่มีการส่งออกมาก ได้แก่ ขมิ้นชัน รากชะเอม ขิง หมากสดและหมากแห้ง เป็นต้น ส่วนเครื่องเทศที่ส่งออก ได้แก่ พริกไทย พริกแห้ง
นอกจากนี้ การส่งออกสมุนไพรจัดจำหน่ายในสินค้าอีกหลายประเภทที่มีมูลค่าสูง เช่น สินค้าเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรสอาหาร ธุรกิจภัตตาคาร ร้านค้า การนวด และสปา โดยภาพรวมทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรประมาณ 4.87 หมื่นไร่ มีเกษตรกรเพาะปลูกสมุนไพรกว่า 1.25 หมื่นราย ในจำนวนนี้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ตลอดจนโอกาสในการพัฒนาสมุนไพรไทยในอนาคต
ที่มา : นารีลักษณ์ ศิริวรรณ. (2564). โอกาสและความท้าทายของสมุนไพรไทยต้านโควิด. วิจัยปริทัศน์ (Research Revoew Article, (12), 1-14. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/582854)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2565 หอสมุดรัฐสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เลขที่ 1111 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
โทรศัพท์ : +66(0) 2242 5900 ต่อ 5711, 5714, 5721-22 โทรสาร : +66(0) 2242 5990
อีเมล : library@parliament.go.th