พูดด้วยภาพ พรีเซนต์อย่างไรให้ถูกใจคนฟัง

พูดด้วยภาพ พรีเซนต์อย่างไรให้ถูกใจคนฟัง

การสร้างสไลด์สำหรับการนำเสนอ โดยการพยายามเอาความรู้ทั้งหมดใส่ลงไปในเนื้อหา หรือการนำรูปภาพสวยงามประกอบคำอธิบาย เพื่อให้สไลด์ดูดีและคาดหวังคนฟังให้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่พยายามนำเสนอ แต่สุดท้ายผลตอบรับไม่เป็นที่คาดหวัง ความจริงสไลด์ควรอยู่ในกฎ 3 วินาที นั่นคือ สไลด์ควรทำหน้าที่เหมือนโปสเตอร์ที่มองปราดเดียว ผู้ฟังจับประเด็นได้และอยากฟังต่อนั่นเอง ดังนั้น ควรใช้รูปภาพแทนตัวหนังสือให้ได้มากที่สุด เพราะมนุษย์เรามองเห็นและเข้าใจรูปภาพเร็วกว่าตัวหนังสือ 60,000 เท่าสร้างการจดจำได้ถึง 65% ขณะที่การจำเนื้อหาที่มีแต่ตัวหนังสือได้เพียง 10%

การทำสไลด์ที่ดีจึงต้องมีหลักการที่จะทำให้ผู้ฟังสนใจ ต้องสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ แรงขับนั้น คือ การสร้างความแตกต่างของสไลด์ ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ อาทิ สี รูป ฟอนต์ จากนั้น คือ การโน้มน้าวให้ผู้ฟังคล้อยตามและเชื่อในสิ่งที่นำเสนอด้วยการเรียงลำดับเนื้อหา การใช้กราฟ ไดอะแกรม การกล่าวซ้ำ สถิติเปรียบเทียบให้เห็นภาพเพื่อสนับสนุนสิ่งที่พูด และระหว่างการนำเสนอ ผู้พูดควรเตรียมยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ หรือการแสดงให้เห็นภาพ

รายละเอียดการทำสไลด์ในเรื่องสี อาทิ สไลด์ควรใช้สีเน้นไปที่ข้อความสำคัญ (Key Message) ดึงดูดสายตาผู้ฟัง เป็นการใช้สีเพื่อส่งเสริมข้อมูลให้เข้าใจง่าย อ่านแล้วสบายตา หากใช้สีแรงหรือแม่สีทั่วสไลด์จะทำให้คนอ่านสไลด์แล้วเข้าใจยากและเกิดอาการล้าเวลาอ่าน การใช้หลักการเลือกคู่สี โดยแต่ละสไลด์ใช้หลักการผสมสี คือ 70:25:5 กล่าวคือ 70% คือ สีพื้นหลัง ควรเลือกสีอ่อน 25% คือ สีหลัก เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวกำหนดบรรยายกาศของสไลด์ที่จะแสดงออกมา และ 5% คือ สีเน้น จะใช้ในส่วนที่ต้องการให้ความสำคัญเพื่อให้เกิดภาพรวมที่กระชับและคมชัดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการใช้อินโฟกราฟิกมาช่วยเรียงลำดับความสำคัญและแสดงความสัมพันธ์ข้อมูล การเน้นส่วนสำคัญของข้อความและการจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา การเลือกฟอนต์ให้สวยงามและเหมาะสมกับงานที่นำเสนอ การจัดพื้นที่สไลด์ให้น่าอ่าน การใช้แผนภูมิประเภทต่าง ๆ รวมถึงกราฟเส้น ล้วนเป็นตัวช่วยที่ดีในการสร้างสรรค์สไลด์ให้สามารถนำเสนอเนื้อหาที่เข้าถึงผู้ฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ที่มา : สุธาพร ล้ำเลิศกุล. (2561). พูดด้วยภาพ พรีเซนต์อย่างไรให้ถูกใจคนฟัง by BetterPitch. [HF 5718.22 ส784พ 2561]

ผู้จัดทำ :
บุษราภรณ์ อัครนิธิยานนท์, บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วิลาวรรณ์ บุตดา, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่