ดอกไม้ (กินได้)...มากมายสรรพคุณ

ดอกไม้ (กินได้)...มากมายสรรพคุณ

ดอกไม้ ไม่เพียงทำให้คนเรารู้สึกสดชื่น แจ่มใส และผ่อนคลายแล้ว ดอกไม้หลายชนิดก็สามารถกินได้ มีสรรพคุณบำรุงร่างกายเป็นอย่างดี ควรเป็นดอกไม้ที่ปลูกเอง ไร้สารตกค้าง เลี่ยงดอกไม้เชิงพาณิชย์ ดอกไม้ริมทางที่อาจปนเปื้อนสิ่งสกปรกและไม่ปลอดภัย ซึ่งดอกไม้ที่สามารถรับประทานได้ อาทิ

  • ดอกอัญชัน มีสารแอนโทไซยานิน ช่วยเพิ่มการมองเห็น ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทานสดคู่น้ำพริก ต้มหรือตากแห้ง ชงดื่ม คั้นน้ำผสมทำขนม 
  • ดอกกุหลาบมอญ ช่วยบำรุงหัวใจ เป็นยาระบาย ใช้กลีบดอกทำยำผสมเนื้อสัตว์ สลัดโรล ตากแห้งเป็นชา
  • ดอกมะลิ ใช้อบในน้ำเปล่าหรือต้มสุกแช่เย็นดื่ม ทำข้าวแช่ ผสมทำขนมไทย ช่วยบำรุงหัวใจ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น
  • ดอกเฟื่องฟ้า ใช้ส่วนใบดอก ชุบแป้งทอด ยำ ทำส้มตำ ช่วยบำรุงหัวใจกับระบบขับถ่าย 
  • ดอกโสน มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงกระดูก บำรุงสมอง ใช้ลวกจิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอดกรอบ ใส่ไข่เจียว ทำของหวาน
  • ดอกขจร หรือดอกสลิด ใช้ทำยำ ผัดน้ำมันหอย ลวกกินกับน้ำพริก ซึ่งอุดมด้วยวิตามินช่วยบำรุงสายตา
  • ดอกแนสเตอร์ชัม เป็นที่นิยมของชาวตะวันตก ใช้ใบและดอกที่มีสีสันสดใส กลิ่นหอมแรงตกแต่งจานอาหาร ทำสลัด ช่วยขับเสมหะ ทำให้จมูกโล่ง 
  • ดอกลาเวนเดอร์ นอกจากสกัดให้ได้กลิ่นหอม ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ บรรเทาแผลจากแมลงกัดแล้ว ยังใช้ปรุงอาหารหรือทำเบเกอรีเพิ่มความหอม ตากแห้งชงเป็นชา ช่วยผ่อนคลายให้นอนหลับสบาย
  • ดอกคาโมมายล์ ใช้เป็นยามาตั้งแต่สมัยอียิปต์ มีสารอะพิจีนีน ช่วยต้านการอักเสบ คลายกังวล และการนอนหลับ โดยตากแห้งชงดื่มเป็นชา
  • ดอกไชว์ กลิ่นคล้ายหัวหอม ใช้ตกแต่งจานอาหารเพิ่มสีสันตะมุตะมิ ใบใช้ปรุงรสแต่งกลิ่นในจานสลัดหรืออาหารประเภทมันเช่นของทอด และน้ำสลัด 

นอกจากนั้น ยังมีดอกไม้อื่น ๆ ที่กินได้ เช่น ดอกไลแลค ดอกแพนซี่ ดอกลีลาวดี ดอกบัวหลวง ดอกชบา ดาวเรือง ดอกกระเจี๊ยบ ดอกเก๊กฮวย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สรรพคุณของดอกไม้หลากหลายชนิดจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายอย่างมาก เมื่อปรุงอาหารอย่างถูกวิธีและเหมาะกับดอกไม้ที่เลือกนำมารับประทาน

 

ที่มา :

  • เดือนฉาย คอมันตร์. (2545). ดอกไม้ในสวน. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/410567)
  • https://www.wongnai.com/food-tips/edible-flowers-with-benefits
  • https://women.trueid.net/detail/8YmmnnKaRpNY
ผู้จัดทำ :
แสงอรุณ อนุเคราะห์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
เจตนนาฎ สุวรรณดี, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่