รัฐสภาไทยในเวที IPU

รัฐสภาไทยในเวที IPU

สมาชิกรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) หรือ IPU นับแต่เริ่มเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2493 ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้มีบทบาทเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมาต่อเนื่อง โดยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา เมื่อปี พ.ศ. 2499 ปี พ.ศ. 2530 และปี พ.ศ. 2553 รวมถึงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับภูมิภาคอีกหลายครั้ง มีส่วนร่วมกำหนดท่าทีของ IPU เช่น ผลักดันวาระประเด็นการจัดทำร่างข้อมติที่รับรองโดยประเทศสมาชิกมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ทราบประเด็นทิศทางแนวโน้มกระแสโลก มาตรฐานโลกด้านนิติบัญญัติ นำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีมาใช้พัฒนาผลักดันประเด็นสำคัญด้านนิติบัญญัติของไทยให้เป็นรูปธรรม มีมาตรฐานตามหลักการ IPU มากขึ้น เช่น ความเสมอภาคระหว่างเพศ ได้ออกกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีสมาชิกรัฐสภาสตรีเพิ่มขึ้น มีชมรมรัฐสภาสตรี มีประธานกรรมาธิการเป็นสตรี อีกทั้งกำลังผลักดันกฎหมายคู่ชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับเพศสภาพในสังคมปัจจุบัน ใช้การทูตรัฐสภา ขยายเครือข่าย กระชับความสัมพันธ์ทุกระดับ นำผลสู่การเป็นรูปธรรมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการเป็นสมาชิก IPU ได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่เสริมเกียรติภูมิและยกระดับรัฐสภาไทยในเวทีโลก จนกระทั่งร่วมกำหนดวาระและทิศทางการดำเนินงานของ IPU

เป้าหมายก้าวต่อไปบนเวที IPU จะผลักดันยุทธศาสตร์รัฐสภาไทยในเวทีพหุภาคีระดับโลก ขับเคลื่อนวาระของโลกร่วมกับนานาประเทศ นำไปสู่การดำเนินการภายในประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทุกมิติ มุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือภาคนิติบัญญัติภายใต้กรอบสหภาพรัฐสภาที่ตอบสนองต่อความท้าทายโลกในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นประชาคมแห่งอนาคตของประชาชนโลกได้แท้จริงดั่งได้สานต่อวัตถุประสงค์แรกเริ่มขององค์กรระหว่างประเทศอันเก่าแก่ที่สุดในโลก ถือกำเนิดจากความคิดริเริ่มของสมาชิกรัฐสภาคือ เซอร์วิลเลียม แรนเดล ครีเมอร์ (Sir William Randal Cremer) ชาวอังกฤษ กับนายแฟรเดริค ปาสซี (Frédéric Passy) ชาวฝรั่งเศส ย้อนเวลาจากวันก่อตั้ง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2432 (ค.ศ.1889) จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) IPU มีอายุ 131 ปี มีสมาชิก 179 ประเทศทั่วโลก มีสมาชิกสมทบ 13 องค์กร และองค์กรสังเกตการณ์ถาวรจำนวนมาก เพื่อความร่วมมือและดำเนินการส่งเสริมสันติภาพ คลี่คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศจนพัฒนาเป็น "เวทีการทูตรัฐสภาระดับโลก" สำหรับอภิปราย ปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน กฎหมาย และส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

 

ที่มา :

  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ, กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา. (2563). 70 ปีแห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา. (https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/578755)
  • https://www.youtube.com/watch?v=6EZWp7f2E_w
  • https://www.parliament.go.th/interparliament/
ผู้จัดทำ :
แสงอรุณ อนุเคราะห์, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
เจตนนาฎ สุวรรณดี, เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่