เทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพ

เทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

ชีวิตประจำวัน คนเราจำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์สังสรรค์ พูดคุยกับบุคคลรอบตัวตลอดเวลา สิ่งสำคัญประการแรกที่จะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน คือ การพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองให้เป็นที่ประทับใจต่อผู้พบเห็น การศึกษาเทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพจะทำให้ผู้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพของบุคคลทั้งภายนอกและภายใน จนทำให้มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล เรียนรู้ทฤษฎีบุคลิกภาพที่จะทำให้เข้าใจถึงพัฒนาการของมนุษย์ เข้าใจถึงสุขภาพจิต การปรับตัวของบุคคล รวมถึงการรับรู้ตนเองและเรียนรู้เทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น จนทำให้ได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพที่สมบูรณ์

ซึ่งหนังสือ "เทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพ" ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาสาระ ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ประเภทและลักษณะ ประโยชน์ของการมีบุคลิกภาพที่เหมาะสมและขอบข่ายของการศึกษาบุคลิกภาพ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ อีกทั้งพัฒนาการแต่ละช่วงวัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ทั้งพัฒนาการในวัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ในด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา รวมถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทฤษฎีบุคลิกภาพ ที่เป็นแนวคิดของนักจิตวิทยา ที่จะช่วยให้เข้าใจถึงพื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจำแนกกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางจิต กลุ่มทฤษฎีมนุษย์นิยม กลุ่มทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม และกลุ่มทฤษฎีบุคลิกภาพ

ตลอดจนสุขภาพจิตกับบุคลิกภาพ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจิต ลักษณะของผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต และความแตกต่างระหว่างโรคจิตโรคประสาท อีกทั้งการปรับตัวที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ สภาวะที่ทำให้ต้องเกิดการปรับตัว ได้แก่ ความคับข้องใจ ความขัดแย้งในใจ ความกดดัน ความเครียด และกลวิธีในการป้องกันตนเอง แบบสู้สถานการณ์ แบบประนีประนอมสถานการณ์ และแบบหนีสถานการณ์ รวมถึงอิทธิพลของมนุษยสัมพันธ์กับบุคลิกภาพ การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น

หลักธรรมที่ใช้ในการส่งเสริมมนุษยสัมพันธ์ ได้แก่ หลักสังคหวัตถุ 4 หลักอิทธิบาท 4 หลักพรมวิหาร 4 หลักฆราวาสธรรม 4 และมนุษยสัมพันธ์กับการทำงานเป็นทีมและทีมงานที่มีประสิทธิภาพ แนวความคิดเกี่ยวกับการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยนำทฤษฎีวิเคราะห์สัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Transactional Analysis) ของ อีริค เบิร์น เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่มาเกี่ยวข้องกัน เพื่อช่วยให้บุคคลเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่น ทั้งด้านการสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ของคนต่อบุคคลอื่นให้ดียิ่งขึ้น

โดยหลักการแนวคิดของทฤษฎีมี 4 ประการ คือ บุคลิกภาพส่วนบุคคล (ego state) การติดต่อสื่อสาร (transaction) ทัศนะชีวิต (life positional) การเอาใจใส่หรือการยอมรับ (strokes)

นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงการรับรู้ตนเองเพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพ แนวทางในการปรับปรุงบุคลิกภาพของบุคคลทั้งภายนอก ภายใน บุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับมารยาททางสังคม ตลอดจนการพัฒนาบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ ตามแนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ตามหลักศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามด้วย

หนังสือ "เทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพ" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา : ธัญญาภัทร์ เลิศจันทรางกูร. (2562). เทคนิคการพัฒนาบุคลิกภาพ. [BF 723.P4 ธ465ท 2562]

ผู้จัดทำ :
สายฝน ดีงาม, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
สารภี ช้างพลี, เจ้าพนักงานห้องสมุดอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่