ประชาธิปไตยดิจิทัล

ประชาธิปไตยดิจิทัล

ยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ผู้คนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านการเมือง จนเกิดคำว่า ประชาธิปไตยดิจิทัล (Digital Democracy) เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับโลก โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาล ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง สื่อ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาครัฐระหว่างประเทศ พลเมือง ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ซึ่งหอสมุดรัฐสภา ได้จัดหาหนังสือใหม่ที่น่าสนใจอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการในการนำไปใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบททางพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไปด้านการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในที่นี้ขอแนะนำหนังสือ "ประชาธิปไตยดิจิทัล" (Digital Democracy) ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาสาระ ประกอบด้วยคำนิยามและแนวคิดประชาธิปไตย ประชาธิปไตยดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประชาธิปไตยดิจิทัลในประเทศบราซิล ประเทศฝรั่งเศส และประเทศไต้หวัน รวมถึงแอปพลิเคชันให้ข้อมูลเชิงแนะนำเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (Voting Advice Applications: VAAS) นำมาใช้เพื่อรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น ผู้เข้าใช้สามารถดูข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างแนวทาง ข้อความ จุดยืน หรือท่าทีของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งต่าง ๆ ที่มีต่อประเด็นเรื่องเดียวกัน อีกทั้งการลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์และการลงคะแนนเสียงทางอินเทอร์เน็ตในประเทศต่าง ๆ ในภาพรวม และประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ประเทศอื่น ๆ อีกทั้งรัฐบาลดิจิทัล ความเป็นมาของรัฐบาลดิจิทัลไทย ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ และเป้าหมายการให้บริการระดับกระทรวง และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 65 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 258 หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 แผนปฏิรูปประเทศ และการวิเคราะห์ประเด็นปฏิรูปประเทศไทย ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สื่อสารมวลชน สังคม พลังงาน และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่สัมพันธ์กับความเป็นดิจิทัล รวมถึงข้อเสนอแนะแนวทางประชาธิปไตยดิจิทัลประเทศไทยที่มีต่อภาครัฐ ต่อผู้ดูแลสื่อสังคมออนไลน์ ต่อมหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตลอดจนการเคลื่อนไหวทางสังคมออนไลน์ กรณีศึกษาการขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพด้วย 

หนังสือ "ประชาธิปไตยดิจิทัล" นี้พร้อมให้บริการ ท่านที่สนใจสามารถมาใช้บริการได้ที่หอสมุดรัฐสภา

 

ที่มา : วีระ เลิศสมพร. (2563). ประชาธิปไตยดิจิทัล. [JF 1525.A8 ว841ป 2563]

ผู้จัดทำ :
สายฝน ดีงาม, บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
สารภี ช้างพลี, เจ้าพนักงานห้องสมุดอาวุโส กลุ่มงานห้องสมุด สำนักวิชาการ
วันที่