พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 โดยเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาพระฤกษ์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ก็สิ้นรัชกาลของพระองค์ไปก่อน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อจนสำเร็จบริบูรณ์ในปลายปี พ.ศ. 2458 รวมเวลาในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 8 ปี สิ้นค่าก่อสร้าง เป็นเงินประมาณ 15 ล้านบาท

รูปแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม

รูปแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เป็นสถาปัตยกรรมแบบโดมคลาสสิคของโรม ตัวอาคารทำด้วยหินอ่อนสีขาว มีริ้วลายสีน้ำตาลแก่แกมหม่น ซึ่งได้สั่งซื้อมาจากเมืองคารารา (Carara) ในประเทศอิตาลี ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบ "อิตาเลียน เรอเนสซอง" (Italian Renaissance) 

จิตรกรรมในพระที่นั่งอนันตสมาคม

เพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม มีภาพเขียนสีน้ำมันขนาดใหญ่ เป็นฝีมือเขียนภาพของนายริโกลี ช่างเขียนชาวอิตาเลียน เป็นภาพแสดงถึงพระราชกรณียกิจในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 6 รวม 6 ภาพ

การใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมในอดีต

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นกองบัญชาการของคณะราษฎร และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้เชิญบรรดาเสนาบดีและปลัดทูลฉลองมาร่วมประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในกลไกและวิธีการต่าง ๆ ในการบริหารประเทศ และตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ได้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภาจนถึงปี พ.ศ. 2517
 

ที่มา :

  • สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (2528). พระที่นั่งอนันตสมาคม. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
  • https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/355825
ผู้จัดทำ :
ใหม่ มูลโสม, บรรณารักษ์ชำนาญการ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
ภูริชญ์ ทรัพยรังสี, เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ สำนักวิชาการ
วันที่