การประชุมวิชาการเพื่อสร้างการเป็นรัฐบาลเปิดในประเทศไทย (Open Government in Thailand: Transforming towards Excellence)

สรุปสาระสำคัญจากการเข้าร่วมประชุมวิชาการ

1. ที่มาและความสำคัญของรัฐบาลเปิด (Open Government)

การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นกลไกที่สำคัญยิ่งในการสร้างรัฐบาลเปิด (Open Government) เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการใช้อำนาจของรัฐบาล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทุกระดับ หลายประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดนี้และพยายามผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง องค์การสหประชาชาติได้นิยามว่า “ข้อมูลเปิดภาครัฐ คือ ข้อมูลของรัฐบาลที่ถูกเปิดเผยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง นำไปใช้ต่อ หรือแจกจ่ายได้โดยปราศจากข้อจำกัดใด ๆ” นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐยังถือเป็นกุญแจสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบของดิจิทัลสาธารณะ โดยต้องให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่ ใช้ประโยชน์หรือพัฒนาการบริการและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้ รวมถึงแสดงความโปร่งใสในการดำเนินงาน และสามารถตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วน

2. ความหมายและหลักการของรัฐบาลเปิด (Open Government)

ข้อมูลเปิด (Open Data) คือ ข้อมูลในรูปแบบดิจิมัลที่สามารถเปิดเผยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรี ไม่จำกัดแพลตฟอร์ม ไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และเผยแพร่ต่อได้ แต่ต้องระบุแหล่งที่มาและอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งข้อมูลเปิดจำนวนมหาศาลจะเป็นตัวแปรสำคัญในการวิเคราะห์เพื่อวางแผน ปรับกลยุทธ์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานให้สามารถเดินหน้าและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำ

รัฐบาลเปิด (Open Government) คือ รัฐบาลที่ยึดมั่นในหลักการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวทางของประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ การเป็นรัฐบาลเปิดจะต้องประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ ดังนี้ 
     1) ความโปร่งใส คือ มีการเผยแพร่ข้อมูลทั้งเชิงรุกและเชิงโต้ตอบอย่างเปิดเผย รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะอย่างโปร่งใส
     2) ความซื่อสัตย์ คือ มีการจัดทำแนวทางการดำเนินงานและการยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมร่วมกันบนหลักการและบรรทัดฐานที่ให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว 
     3) ความรับผิดชอบ คือ มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของตน
     4) การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและออกแบบการบริการสาธารณะ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนการเสนอแนะต่อนโยบายด้านต่าง ๆ 
     
สำหรับข้อมูลภาครัฐที่จะถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ควรพิจารณาให้เป็นไปตามคุณลักษณะของข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) 10 ประการ ได้แก่ 1) เป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ กล่าวคือ ข้อมูลเปิดต้องพร้อมใช้งาน และไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความมั่นคงหรือมีข้อยกเว้นในการเปิดเผยข้อมูล 2) เป็นข้อมูลปฐมภูมิ หรือข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลโดยตรง 3) ข้อมูลต้องเป็นปัจจุบัน และเปิดเผยในเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อเพิ่มประโยชน์ให้กับผู้ใช้ข้อมูล 4) สามารถเข้าถึงได้ง่าย 5) สามารถอ่านได้ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ 6) ไม่เลือกปฏิบัติ ผู้ใช้ข้อมูลต้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องระบุตัวตน หรือเหตุผลของการนำไปใช้งาน 7) ไม่จำกัดสิทธิ กล่าวคือ ข้อมูลต้องอยู่ในรูปแบบมาตรฐานเปิดที่สามารถใช้ได้หลายแพลตฟอร์ม และต้องไม่ถือครองกรรมสิทธิ์หลังจากนำข้อมูลเปิดไปใช้ประโยชน์ 8) ปลอดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 9) เป็นข้อมูลที่คงอยู่ถาวร โดยข้อมูลต้องสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา และมีการควบคุมการเปลี่ยนแปลงของชุดข้อมูล และ 10) ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูล ทั้งนี้ กรณีที่กฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของข้อมูลเปิดภาครัฐอย่างใดไว้เป็นการเฉพาะ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น

3. ประโยชน์ของการเป็นรัฐบาลเปิด

     1) ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดนโยบายไปจนถึงการนำนโยบายไปปฏิบัติ สามารถติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ภาครัฐเกิดความตื่นตัวและมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
     2) มีระบบการตรวจสอบที่ดี ภาครัฐตระหนักถึงการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะมากขึ้น เพิ่มการรับรู้การทุจริตในระดับที่สูงขึ้น สามารถติดตามตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของบุคลากรภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     3) มีการพัฒนาและปรับปรุงการใช้ทรัพยากรสาธารณะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการลดทอนความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
     4) มีการกำหนดนโยบายและการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ รัฐบาลได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน 
     5) เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่คลอบคลุมทุกมิติ ด้วยระบบการบริหารจัดการด้วยข้อมูลดิจิทัลที่ทันสมัย

4. แนวทางการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลเปิด

     1) แนวทางการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลเปิด
         1.1) เปลี่ยน คือ เปลี่ยนวิธีการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในรูปแบบดิจิทัลมากขั้น
         1.2) เปิด คือ การเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เอกชน และประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของรัฐ มีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในรูปแบบต่าง ๆ 
         1.3) ปรับ คือ การปรับกฎหมายให้ทันสมัย รวมถึงการผลักดันพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะเพื่อให้สามารถใช้บังคับได้อย่างเป็นรูปธรรม 
         1.4) ปฏิรูป คือ ปฏิรูปการเมืองแบบเปิด รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
         1.5) ปรับปรุง คือ ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้เอื้อต่อการทำงาน ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ลดอำนาจผูกขาดและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม 

อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐถือเป็นกลไกสำคัญของการเป็นรัฐบาลเปิด ซึ่งจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร การแบ่งปันและบูรณาการข้อมูลร่วมกัน สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน โดยกำหนดให้มีหน่วยงานกลาง ซึ่งอาจเริ่มต้นพัฒนาจากพื้นที่เล็ก ๆ และขยายไปในระดับประเทศ ประกอบด้วยแนวทางสำคัญ 3 ประการ คือ 1) องค์กรต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน 2) ต้องมีหน่วยงานกลาง โดยอาจให้สถาบันทางการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือเป็นหน่วยงานกลางในการแบ่งปันข้อมูลเปิด (Open Data) และ 3) หน่วยงานต้องมีเป้าหมายร่วมกัน โดยรัฐบาลต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและผลักดันการดำเนินการพร้อมกันทุกภาคส่วนเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) 

     2) หลักการและขั้นตอนการจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะของประเทศไทย
         2.1) หน่วยงานของรัฐจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงานและดำเนินการให้เป็นไปตามธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
         2.2) หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดทำและครอบครองในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล
         2.3) หน่วยงานของรัฐจัดทำบัญชีข้อมูล ระบุชุดข้อมูล จัดระดับความสำคัญ จำแนกหมวดหมู่ และจัดชั้นข้อมูลเปิดภาครัฐ กำหนดรูปแบบชุดข้อมูล จัดทำคำอธิบายชุดข้อมูลดิจิทัล จัดส่งหรือเชื่อมโยงชุดข้อมูลของข้อมูลเปิดภาครัฐที่ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
         2.4) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) มีแพลตฟอร์มกลาง ประสานงานหน่วยงานของรัฐให้จัดส่งหรือเชื่อมโยงมาที่ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ สร้างการมีส่วนร่วม มีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น 
         2.5) หน่วยงานของรัฐและผู้ใช้ข้อมูลปฏิบัติตามข้อกำหนด ข้อตกลง หรือเงื่อนไขการให้บริการและการใช้ข้อมูลของศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
         2.6) หน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้ข้อมูล และ สพร. ดำเนินการตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ

5. อนาคตและความคาดหวังของประเทศไทยภายใต้บริบทการเป็นรัฐบาลเปิด

     1) ด้านนโยบายและการบริหารจัดการ
         เมื่อประเทศไทยได้เป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รัฐบาลจะมีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการที่ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการข้อมูลเปิดภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้บริหารได้รับทราบข้อมูลที่สะดวกรวดเร็วผ่านรูปแบบการจัดการข้อมูลที่ทันสมัย (Dashboard) เพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศ และการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ  ดังนั้น ภาครัฐต้องตระหนักถึงคุณค่าของการเป็นรัฐบาลเปิด และการบริหารงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และเอาใจใส่ประชาชน ทั้งในด้านประโยชน์ของข้อมูลต่อภาครัฐ และประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลเปิดได้อย่างแท้จริง

     2) ด้านการให้บริการประชาชน
         ประชาชนจะได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตรงตามความต้องการมากขึ้น สามารถลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม ประชาชนมีสวัสดิการที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกคนมีความเสมอภาคบนสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน เมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะก่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ง่ายขึ้น ประเทศชาติก็จะเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และความร่วมมือจากทุกฝ่าย 

6. ข้อแสนอแนะขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เกี่ยวกับการเป็นรัฐบาลเปิด

     1) แนวทางการปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ
         1.1) การผลักดันนโยบายการเป็นรัฐบาลเปิดในหน่วยงานภาครัฐทุกระดับ โดยมีแนวนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน และมีการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี อาทิ การมีรัฐสภาเปิด (Open Parliament) ในประเทศฝรั่งเศส การมีศาลยุติธรรมเปิด (Open Justice) ในประเทศเปรู
         1.2) การส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ อาทิ การดำเนินงานของสมัชชาสภาพภูมิอากาศในสหราชอาณาจักร การมีสภาประชาชนในประเทศโปแลนด์
         1.3) การใช้เครื่องมือดิจิทัลและข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government data) มาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการ โดยมีการคิดค้นนวัตกรรมในการให้บริการเปิดเผยข้อมูล หรือการคิดค้นโปรแกรมใหม่ ๆ ในการเปิดเผยข้อมูล อาทิ ระบบการพิจารณาระยะไกล (Remote Deliberation System) ของประเทศบราซิล การออกแบบเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐของประเทศไอร์แลนด์

     2) ข้อเสนอแนะแนวทางการเสริมสร้างกลไกการทำงานเพื่อความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมของประชาชน
         2.1) ควรส่งเสริมการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และติดตามประเมินผลการเข้าถึงข้อมูลด้านกฎหมายของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
         2.2) ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ตั้งแต่เริ่มต้นกำหนดนโยบายจนกระทั่งการนำนโยบายไปปฏิบัติ
         2.3) ควรส่งเสริมการนำเครื่องมือดิจิทัลและข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) มาใช้ประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางของการเป็นรัฐบาลเปิด
         2.4) ควรส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการปกป้องข้อมูลของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และมีการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่มีข้อจำกัดในการเปิดเผย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับรัฐบาล
         2.5) ควรกำหนดความจำเป็นและขีดจำกัดในการใช้ทรัพยากร เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงการบริหารจัดการ และประโยชน์ต่อสาธารณะ
         2.6) ควรพัฒนาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และกำหนดแนวทางการป้องกันความผิดพลาดของข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้ข้อมูลและผู้ให้บริการข้อมูลให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการป้องกันความผิดพลาดของข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
     
ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้สนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการสร้างและเปิดเผยข้อมูลดิจิทัลตามแนวทางของการเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การบริหารงานภาครัฐเกิดความโปร่งใส มีความซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบอันจะทำให้รัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตของประเทศในภาพรวมอย่างยั่งยืนต่อไป
 

การประชุมวิชาการเพื่อสร้างการเป็นรัฐบาลเปิดในประเทศไทย (Open Government in Thailand: Transforming towards Excellence) จัดโดย สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ มูลนิธิ Konrad-Adenauer-Stiftung (KAS) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 8.30-16.30 นาฬิกา ณ ห้องสุขุมวิทแกรนด์บอลรูม โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพมหานคร 

Subject(s) & Keyword(s)
open government, open government data, OECD
ผู้เข้าร่วม :
  1. นายมาณิช อินทฉิม, ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ
  2. นายคณาธิป ไกยชน, วิทยากรปฏิบัติการ
วันที่เข้าร่วม :
2563-12-04
ปีที่เข้าร่วม :
2563
แหล่งที่มา :
ความรู้และประสบการณ์จากการอบรม ประชุม และสัมมนา
ผู้เรียบเรียง :
มาณิช อินทฉิม, ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ
คณาธิป ไกยชน, วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
แฟ้มข้อมูล :