การลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมด้วยหลัก 3R

ผู้เรียบเรียง :
วันวิภา สุขสวัสดิ์, นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

การเผาในที่โล่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศจากการเผาในที่โล่งมีที่มาจาก 3 แหล่งใหญ่ ได้แก่ พื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตร ด้วยการเผาไหม้นำมาซึ่งควันไฟ เถ้า เขม่า และฝุ่นละออง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ บดบังทัศนวิสัย ทำลายสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จากสถานการณ์จุดความร้อนสะสมวันที่ 16 เมษายน 2567 ประเทศไทยมีจุดความร้อนสะสมทั่วประเทศ 314 จุด จุดความร้อนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตร 87 จุด รองลงมา คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 84 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 81 จุด พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 30 จุด พื้นที่ชุมชนรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ 24 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด ทั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น

ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย สิ่งสำคัญในการทำเกษตรกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง คือ การเตรียมดินที่จะทำการเพาะปลูก วิธีการที่ง่าย สะดวก และประหยัดสำหรับเกษตรกรนิยมใช้ คือ “การเผา” ทำให้พื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงมีโอกาสเกิดการเผาซ้ำซาก คือ พื้นที่ที่เร่งรอบทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ที่บริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรได้ยาก หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และแรงงาน จึงมีความจำเป็น ต้องกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือจากกระบวนการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวด้วยการเผา

การดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำหลัก 3R มาใช้ ประกอบด้วย

  1. 1.) Re-Habit คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผาในทุกขั้นตอนการผลิต โดยนำเครื่องจักรมาช่วยในการเก็บเกี่ยวเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตรให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
  2. 2.) Replace with high value crops คือ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชไร่ที่ปลูกบนพื้นที่สูงเป็นพืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวคาโด และ
  3. 3.) Replace with alternate crops คือ การปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่ราบเป็นพืชทางเลือก โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังหรือพื้นที่นอกเขตชลประทานเป็นการปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทน

นอกจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมด้วยหลัก 3R ภาครัฐได้ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการเผาในที่โล่งนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น แม้จะเป็นของตนเอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท อีกทั้งกรณีการเผาก่อให้เกิดเหตุรำคาญมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนั้น กรณีการเผาขยายเป็นวงกว้างในพื้นที่อาจเป็น “สาธารณภัย” ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ในส่วนของการเผาในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินมาตรการทางกฎหมายโดยอาศัยอำนาจตามมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งห้ามไม่ให้มีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรหรือสิ่งไม่พึงประสงค์ใด ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเตือนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ส.ป.ก. มีคำสั่งให้สิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและให้ออกจากที่ดินนั้นได้

สำหรับแนวทางดำเนินการเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ภาคการเกษตรในระยะยาว กรมวิชาการเกษตรได้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดการเผาทุกขั้นตอน ด้วยการออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 (PM 2.5 Free Plus) นอกจากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ระบุพื้นที่เผาซ้ำซาก พัฒนาระบบแจ้งเตือนเกษตรกรเป็นรายบุคคล (Personal–notification System) ในการจัดการเศษวัสดุหลังเก็บเกี่ยว ผ่านแอปพลิเคชัน “Farmbook” และทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ (e-Form) รวมถึงพัฒนาระบบแผนที่ให้สามารถแสดงพิกัดสถานที่ที่มีความสามารถในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น พิกัดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โรงไฟฟ้าชีวมวล จุดรับอัดฟาง หรือให้บริการเช่าเครื่องจักรอัดฟาง เป็นต้น    

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคเกษตร เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาในภาพรวมให้สำเร็จ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่สำคัญเกษตรกรควรตระหนักรู้ถึงผลเสียของการก่อมลพิษด้วยการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกพืชต้องร่วมกันรับผิดชอบ และเลือกใช้วิธีการจัดการกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ถูกต้องเหมาะสมกับพื้นที่ อันจะส่งผลดีทั้งต่อการทำเกษตรกรรมและช่วยลดปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน

ภาพปก