ฤดูน้ำแดง

ผู้เรียบเรียง :
วิริยะ คล้ายแดง, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2 สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2567-04
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

 

ประเทศไทยมีภาพเขียนเกี่ยวกับการจับปลามานานก่อนประวัติศาสตร์ และมีคำกล่าวตั้งแต่สมัยสุโขทัยว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” “กินข้าวกินปลา” ปลาเป็นแหล่งโปรตีนของคนไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณ ประกอบกับประเทศไทยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น กว๊านพะเยา บึงบอระเพ็ด หนองหาร และมีแม่น้ำหลายสายเช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง ที่ไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ที่ไหลลงแม่น้ำโขง จึงมีการทำประมงน้ำจืดกันอย่างแพร่หลายโดยเป็นการจับสัตว์น้ำจืดหรือการประมงแบบยังชีพ แต่ในปัจจุบันการประมงน้ำจืดได้มีการจับเพื่อการขายมากขึ้น และมีการจับสัตว์น้ำจืดมากเกินขีดความสามารถการผลิตของทรัพยากรตามธรรมชาติ โดยเฉพาะการจับสัตว์น้ำจืดในฤดูที่สัตว์น้ำจืดวางไข่ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำจืดอย่างรุนแรง กรมประมงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่บริหารจัดการดูแลรักษาฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงได้ประกาศมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดวางไข่ หรือที่เรียกกันว่า “ฤดูน้ำแดง” 

“ฤดูน้ำแดง” หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปริมาณฝนจำนวนมากที่ตกหนัก ชะล้างหน้าดินและพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่าง ๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ช่วงฤดูน้ำแดงมักจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี เป็นช่วงที่น้ำมีธาตุอาหารต่าง ๆ มาก และเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สัตว์น้ำจืดมีการผสมพันธุ์และวางไข่ ดังนั้น ในช่วงเวลานี้สัตว์น้ำจืดจะมีการผสมพันธุ์วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน เป็นการเพิ่มปริมาณประชากรสัตว์น้ำจืดให้แก่แหล่งน้ำ จึงไม่ควรทำการจับสัตว์น้ำจืด ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากจะทำให้สัตว์น้ำจืดไม่สามารถผสมพันธุ์วางไข่ หรือตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเพื่อขยายแพร่พันธุ์ต่อไปได้ ทรัพยากรสัตว์น้ำจืดก็จะลดลงและอาจไม่เหลือสัตว์น้ำจืดให้จับขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก

การกำหนดช่วงฤดูน้ำแดง อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในพื้นที่และในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน หรือระยะเวลาอื่นใดที่จำเป็นต่อการคุ้มครองสัตว์น้ำตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เว้นแต่จะใช้เครื่องมือ วิธีกาทำการประมง และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นบรรดาที่อธิบดีกำหนด” ดังนั้น จึงได้มีการออก “ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมง พ.ศ. 2566” เพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์สำหรับปี 2566 และปี 2567 ทั้งในเรื่องของพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำการประมง โดยแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะที่ 1 ครอบคลุม 33 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม-15 สิงหาคม
  2. ระยะที่ 2 ครอบคลุม 39 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม และ
  3. ระยะที่ 3 ครอบคลุม 5 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-30 พฤศจิกายน

โดยห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำการประมง หรือด้วยวิธีใด ๆ ในที่จับสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด ยกเว้นเครื่องมือที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงได้ เป็นเครื่องมือบางชนิดที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งพื้นที่น้ำจืดนั้น หมายถึง แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ห้วย หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน พรุ และลำน้ำทุกสาขา รวมทั้งป่าไม้และพื้นดินที่ถูกน้ำท่วมตามธรรมชาติเชื่อมต่อบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินของเอกชน

ส่วนการทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือรวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยอ่อนเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยง ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงโดยออกเป็นหนังสืออนุญาตทำการประมงเท่านั้น หากผู้ใดทำการประมงด้วยเครื่องมือหรือกระทำการอันใดที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้นั้นจะมีความผิด และต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่าการกำหนดช่วงฤดูน้ำแดงหรือฤดูปลาวางไข่นี้ แต่ละจังหวัดอาจมีช่วงระยะเวลาไม่ตรงกัน เนื่องจากสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำจืดที่มีอยู่ทั่วประเทศและเพิ่มปริมาณประชากรสัตว์น้ำจืดให้แก่แหล่งน้ำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกำหนดช่วงฤดูน้ำแดงนั้น เป็นเพียงมาตรการที่ใช้ควบคุมการทำการประมง เพื่อลดการทำลายทรัพยากร สัตว์น้ำจืดตามกฎหมายเท่านั้น หากแต่การอนุรักษ์ทรัพยากรที่แท้จริง ต้องเริ่มที่จิตสำนึกของประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านี้ ประชาชนควรมีความรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างจิตสำนึก ในการหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อจะได้รู้จักใช้ ดูแล และรักษาไว้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

ภาพปก